วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

ภารกิจของชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของกระแสโลกาภิวัฒน์


ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า สังคมต่างๆมีรากเหง้าติดอยู่กับโลกธรรมชาติมากกว่าโลกในยุคปัจจุบันมาก ระบบเศรษฐกิจในยุคนั้นเป็นระบบเกษตรกรรมและหัตถกรรม แบบพึ่งพากันและกันในท้องถิ่น รวมทั้งพึ่งพาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และธรรมชาติทั้งหมดมากกว่ายุคปัจจุบันมาก มนุษย์เรามีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัฒนธรรมและธรรมชาติ ไม่ต้องผ่านสื่อและพ่อค้าคนกลาง การที่มนุษย์ในสมัยนั้นได้เห็น และมีประสบการณ์กับมนุษย์คนอื่นๆ ในชุมชนโดยตรง เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจทางจริยธรรมของมนุษย์แต่ละคน คำสอนของพระพุทธเจ้า ได้พัฒนาขึ้นในบริบทของสังคม ที่หล่อหลอมโดยความสัมพันธ์โดยตรงของมนุษย์กับชุมชน และโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

พุทธศาสนาคือเรื่องของชีวิต คือเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมชาติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และอย่างเป็นวัฏจักร การเกิดและการตาย ความดีใจและความเศร้าโศก ดอกไม้บานแล้วก็เหี่ยว พระจันทร์ข้างขึ้นและข้างแรม พุทธศาสนาคือเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอนิจจัง (ไม่คงทนถาวร) และความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตทุกสิ่ง

แต่ในโลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและการผลิตขนานใหญ่แบบอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ถูกแบ่งแยก ทั้งระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย โลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทำให้ชีวิตประจำวันของเรา ต้องพึ่งพาโลกแบบใหม่ที่ถูกสร้างโดยคน - ระบบเศรษฐกิจแบบค้าขาย พลังงานไฟฟ้า รถยนต์และถนน ระบบการแพทย์สมัยใหม่ ฯลฯ เป็นส่วนใหญ่ การพึ่งพาในลักษณะเช่นนี้ ทำให้เราเชื่อว่า เราต้องพึ่งพาโลกของเทคโนโลยีมากกว่าโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

เมื่อขนาดของระบบเศรษฐกิจขยายใหญ่โต และเรากลายเป็นเพียงผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่เป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกของคนหกพันล้านคน ยิ่งเป็นการยากที่เราจะรู้ถึงผลกระทบของเรา ต่อธรรมชาติและต่อคนอื่นๆ ในสังคมเหมือนในชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม ที่คนในชุมชนรู้จักกันและสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในสังคมแบบชุมชนดั้งเดิม เรารู้ว่าดารเพาะปลูกของเราจะมีผลกระทบต่อดินและต่อคนในชุมชนที่ซื้อของจากเราไปกินอย่างไร เรามีความรับผิดชอบ ความห่วงใย ต่อสุขภาพ/สวัสดิการของพวกเขาโดยตรง

ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เราต่างคนต่างเป็นผู้ผลิต ในระบบอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ และส่งสินค้าผ่านต่อคนอื่น ไปให้คนที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร เพียงเพื่อผลกำไรและเงินของใครของมัน ทำให้เราไม่รู้สึกผูกพันรับผิดชอบ ต่อผลกระทบ ต่อการกระทำของเรา เมื่อเทียบกับการผลิตในระบบเศรษฐกิจชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในชุมชนมากกว่าแค่การผลิตสินค้าไปขายแลกกับเงิน

การแยกตัวออกจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และความผูกพันของมนุษย์ ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มาจากและสะท้อนถึงการมองโลกแบบแยกส่วน ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับคำสอนของพุทธศาสนา ซึ่งมองสรรพสิ่งแบบเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า มนุษย์เราเป็นปัจเจกชน ที่แยกออกมาจากธรรมชาติ และมนุษย์สามารถที่จะเอาชนะโลกธรรมชาติได้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการบริหารจัดการสมัยใหม่

โครงสร้างและสถาบันของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมมีพื้นฐานอยู่บนความโง่เขลาและความโลภของมนุษย์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคำสอนของพุทธศาสนาที่มองว่า มนุษย์เราเกิดมาต้องพึ่งพากันและกัน พึ่งพาสรรพสิ่งในโลกธรรมชาติ และสรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีความยั่งยืนถาวร จะต้องสิ้นอายุสูญสลายไปในวันหนึ่ง ดังนั้น เราจึงควรใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่เอาเปรียบผู้อื่น และใช้ชีวิตแบบเดินสายกลาง ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

ชาวพุทธที่รับผิดชอบต่อสังคม (รวมทั้งชาวคริสต์ ชาวมุสลิม ฯลฯ ด้วย) ควรจะใช้หลักคำสอนของศาสนา มาตรวจสอบแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันอย่างพินิจพิจารณา ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากพวกเราช่วยกันพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว เราจะเห็นได้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน เดินไปคนละทางกับเศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ และเราควรจะคัดค้านอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่สอดคล้องกับปรัชญาชาวพุทธ

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และโลกาภิวัฒน์ (การทำให้การผลิตและการบริโภคของคนทั่วโลก เป็นแบบเดียวกัน) ภายใต้การครอบงำของบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ กำลังทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจเดี๋ยว ที่จะนำโลกทั้งโลกไปสู่หายนะภัยครั้งใหญ่ รากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก วางอยู่บนแนวคิดแคบๆเกี่ยวกับความต้องการและแรงจูงใจของมนุษย์ว่า เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน โดยมองข้ามความสัมพันธ์ด้านที่ไม่ใช่วัตถุของชีวิต เช่น เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน การมีงานที่ให้ความหมาย ความพอใจซึ่งมีค่ามากกว่าเงิน ความสัมพันธ์ด้านคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งไม่อาจซื้อได้ด้วยเงิน

เหตุที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก เน้นที่ความสัมพันธ์ของการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงิน เพระพวกนายทุนและผู้สนับสนุนเชื่อว่า มนุษย์เรามีแรงจูงใจขั้นพื้นฐานที่เห็นแก่ตัว และมีความต้องการทางวัตถุอย่างไม่มีขอบเขต แทนที่พวกนายทุนและผู้สนับสนุน จะส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักควบคุมแรงจูงใจทางธรรมชาติ ในการไขว่คว้าที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง พวกเขากลับใช้จุดอ่อนของมนุษย์ ที่จะเพิ่มการผลิตการขายสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มกำไรส่วนตัวของพวกเขา พวกเขาอ้างว่า “มือที่มองไม่เห็น” ในกลไกตลาดที่มีการแข่งขันเสรี จะทำให้กิจกรรมที่เห็นแก่ตัวของมนุษย์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยอัตโนมัติ

แต่ระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ ที่ถูกครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติ จริงๆแล้วมีความหมายอย่างไร? ความหมายหนึ่งของโลกาภิวัฒน์ คือ “โลกที่มีการบริโภคแบบเดียวกันทั่วโลก” โลกซึ่งคนทุกคนกินอาหารที่มาจากการผลิต ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบเดียวกัน ใส่เสื้อผ้าตะวันตกแบบเดียวกัน มีบ้านสมัยใหม่ สร้างวัสดุจากโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดียวกัน โลกซึ่งทุกประเทศใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกัน พึ่งระบบเศรษฐกิจที่มีการบริหารจัดการจากสำนักงานแม่ของบรรษัทข้ามชาติ ระบบเดียวกัน จัดการศึกษาแบบตะวันตกเหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน (ภาษาอังกฤษ ภาษาคอมพิวเตอร์ ภาษาซื้อขายด้วยเงินของทุนนิยม) บริโภคสื่อแบบเดียวกัน โดยสรุปแล้ว ระบบโลกาภิวัฒน์คือ ระบบที่ทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ มันหมายถึงการสร้างวัฒนธรรมเดี่ยว คือ วัฒนธรรมทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตก

ความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของคนหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ หลายศาสนา สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ ต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของพวกเขาที่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอด และพัฒนาได้จนถึงวันนี้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ช่วยให้มนุษย์เราเกิดการปลกเปลี่ยนเรียนรู้ การปรับตัวการแก้ไขสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีขึ้น ช่วยให้โลกเกิดความร่ำรวยและสีสันที่น่าสนใจ

แต่การขยายตัวของระบบโลกาภิวัฒน์ กำลังทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรม (และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต) อย่างรวดเร็ว ระบบโลกาภิวัฒน์สร้างเมืองแบบป่าคอนกรีต และถนนหลายช่องแบบเดียวกันทั่วโลก สร้างภูมิสถาปัตย์แบบเดียวกันในทุกมุมโลก เมืองที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า ห้างสะดวกซื้อ ร้านอาหารแบบสำเร็จรูป ป้ายโฆษณาหนังฮอลีวู้ด โทรศัพท์มือถือ กางเกงยีนส์ เครื่องสำอาง บุหรี่ เบียร์ เหล้า จากตะวันตก ฯลฯ

ระบบการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่เข้ามาแทนที่การผลิตเพือเลี้ยงชีพ ในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของชุมชนทำให้มนุษย์เหินห่างตัดขาดจากวงจรของธรรมชาติเพิ่มขึ้น การเกษตรแบบพึ่งแรงงานธรรมชาติเพื่อการเลี้ยงชีพ ถูกทำให้เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม เพื่อขายและส่งออก ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการใช้ปุ๋ยและเคมี การวางแผนและการจัดการจากบริษัทส่งออก เพื่อให้ได้สินค้าเกษตร ชนิดที่จะขนส่งไปขายทางไกล ในราคาที่แข่งขันกับผู้ผลิตผู้ส่งออกรายอื่นๆในตลาดโลกได้

ในกระบวนการดังกล่าวนี้ เกษตรกรผู้เคยวางแผนเอง ซึ่งเคยอิสระทำทุกอย่างด้วยตัวเอง รวมทั้งควบคุมการผลิตและชีวิตของตัวเอง ได้กลายเป็นลูกหนี้หรือลูกจ้างในระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ที่ต้องขึ้นต่อการใช้ทุน การใช้เครื่องจักรที่กินน้ำมัน การใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมีมากขึ้น การเพาะปลูกพื้นที่เป็นอาหารหลากหลาย เพื่อการบริโภคของชุมชนในท้องถิ่น กลายเป็นการปลูกพืชเดี่ยวเพื่อการส่งออก

ระบบโลกาภิวัฒน์ที่สร้างวัฒนธรรมเดี่ยว มาแทนความหลากหลายทางวัฒนธรรม กำลังมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มซีกโลกใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่มากกว่าที่อื่นๆ ในกลุ่มซีกโลกใต้ประชาชนจำนวนมาก ยังอาศัยในหมู่บ้าน ยังมีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง ซึ่งใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างหลากหลาย ยังคงเชื่อมโยงแบบอาศัยโลกธรรมชาติ มากกว่าโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่แรงกดดันจากระบบโลกาภิวัฒน์ กำลังทำลายระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของท้องถิ่นอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

คนจนถูกบีบให้อพยพจากชนบทเข้าเมือง และหมู่บ้านเองก็ถูกทำให้เป็นชุมชนชานเมือง ประชาชนที่เคยพึ่งตนเองในระดับชุมชนได้ ต้องกลับมาขึ้นต่อสินค้าอุตสาหกรรมจากโรงงานและร้านค้า ประชาชนผู้เคยภูมิใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง กลับรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนในเมือง และต้องพยายามเลียนแบบคนในเมือง การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่นที่ประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลวางแผนว่า ประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้น 440 ล้านคน ใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่สูงกว่า อัตราการเพิ่มของประชากรจีนทั้งประเทศหลายเท่า

การพัฒนาของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ไม่เพียงแต่ผลักดันให้เกษตรกรต้องทิ้งถิ่นฐานจากชุมชนชรบทเท่านั้น มันยังทำให้โอกาสในการหางานทำ อำนาจทางการเมืองรวมศูนย์อยู่ในเมือง และทำให้เมืองมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งสื่อมวลชนและการโฆษณาสินค้า ก็ช่วยสร้างแรงผลักดันทางจิตวิทยา ให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปแสวงหาชีวิตที่ “เจริญกว่า” ซึ่งหมายถึงการได้ทำงาน เพื่อมีเงินบริโภคสินค้าสมัยใหม่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากตำแหน่งงานในเมืองมีจำกัด จึงมีคนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้มีชีวิตที่เจริญขึ้น คนที่อพยพจากชนบทเข้าเมือง ส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบในชุมชนแออัด ที่ขยายใหญ่โตขึ้น ทั้งๆที่ระบบโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดผลเสียหายเหล่านี้ แต่รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาก็ยังสนับสนุนนโยบายพัฒนาประเทศ ตามกระแสโลกาภิวัฒน์

ภาระกิจของชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของโลกาภิวัฒน์

ขอคำแนะนำด้วยค่ะ/ครับ

พิ้นหลัง