วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2551

โลกาภิวัฒน์ กับ แนวทางการดำเนินนโบายการเงินอนาคต

การดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบันนี้ไม่ได้เรียบง่ายเช่นในอดีต แต่กลับต้องดำเนินชีวิตภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ที่นับวันยิ่งเชี่ยวกราดมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทุกอย่างรอบตัวกำลังรวมเป็นตลาดเดียว คือ ตลาดโลก นั่นหมายความว่า ราคาสินค้า และบริการถูกกำหนดโดยตลาดโลก ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการย่างเข้าสู่เศรษฐกิจแบบตลาดของ ประเทศจีน อินเดีย และยุโรปตะวันออก การปฏิวัติทางเทคโนโลยี และการสื่อสาร ต้นทุนการคมนาคมขนส่งที่ลดลงต่ำเป็นอย่างมาก ด้วยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นแรงผลักดันให้เกิดการแบ่งงานกันทำมากขึ้น หรือเราสามารถอธิบายโลกาภิวัฒน์ในมุมมองของธุรกิจเข้ากับมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ได้ว่า โลกาภิวัฒน์ คือ ช็อคที่เกิดขึ้นกับ ราคาสัมพัทธ์ โดยระดับราคาทั่วไปขึ้นกับราคาสินค้า และบริการที่ผลิตได้ในประเทศ โดยแนวโน้มของ ราคาเป็นดังนี้

ราคาของ Tradable Goods (สินค้าที่มีการทดแทนกันอย่างเกือบสมบูรณ์โดยสินค้านำเข้า หรือราคาถูกกำหนดจากภายนอกประเทศ) มีแนวโน้มลดลง
ราคาของ Non-tradable Goods (สินค้าที่ไม่มีการทดแทนกัน หรือราคาถูกกำหนดจาก ภายในประเทศ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ต่ออัตราเงินเฟ้อสรุปได้ ดังนี้
(๑.) การเปลี่ยนแปลงของอัตราการค้า (ราคาของสินค้าออกต่อราคาสินค้าเข้า)
โลกาภิวัฒน์ได้เปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเงินเฟ้อ อันเนื่องมาจากการตีตลาดสินค้าราคาถูกจากเอเชีย นั่นคือ ช็อคของอุปทานทางบวก (การเพิ่มขึ้นของอุปทานทุกระดับราคา) ดังนั้นการลดลงของราคาสินค้านำเข้าทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้น หรืออำนาจซื้อเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่มีต้นทุนเกิดขึ้น
ผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงิน
ในทางปฏิบัติ ก่อให้เกิดผลดีต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่เรียกว่า “Tailwind” นั่นคือ ธนาคารกลางสามารถใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับที่สูงกว่าปกติ หรือกล่าวได้ว่าลดอัตราเงินเฟ้อโดยที่ไม่จำเป็นต้้องมีการชะลอตัวของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาเชิงประจักษ์ของ London School of Economics ผลดีที่เกิดขึ้นนี้เกิดนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เพราะว่าแรงงานอาจจะสร้างรูปแบบ การคาดการณ์จากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากผลได้ของอัตราการค้า ดังนั้นการดำเนินนโยบายนี้ใช้ได้เพียงชั่วคราว
(๒.) การเปลี่ยนแปลงของพลวัตระยะสั้นของกระบวนการเงินเฟ้อ
โลกาภิวัฒน์ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะสั้น (Short-run tradeoff) มีความสัมพันธ์ในลักษณะลาดมากขึ้น หรือชันน้อยลง จากการศึกษาเชิงประจักษ์ที่ได้จากหลายประเทศทั่วโลก พบว่า
ทศวรรษที่ ๗๐ ความสัมพันธ์มีลักษณะแนวดิ่ง คือ ไม่ว่าจะพยายามที่จะรักษาอัตราการว่างงานให้ต่ำกว่าอัตราการว่างงานธรรมชาติแล้วก็ตามส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
ทศวรรษที่ ๘๐ ความสัมพันธ์มีลักษณะชันลาดลง คือ เงินเฟ้อที่ระดับต่ำจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาวะเศรษฐกิจมีการว่างงานมากขึ้น
ทศวรรษที่ ๙๐ ความสัมพันธ์มีลักษณะลาดจนเกือบเป็นเส้นตรงแนวนอน คือ สามารถทำให้เงินเฟ้อต่ำลงในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ชะงัก
ในทางทฤษฎีแล้วสามารถอธิบายได้ว่า ผลที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึง การจัดการทางด้านอุปสงค์ที่ดีมาก โดยทำให้ระดับการว่างงานอยู่ต่ำกว่าระดับธรรมชาติ
ข้อสังเกต กระบวนการของเงินเฟ้อมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อันมีสาเหตุดังต่อไปนี้

(๑.) การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายการเงินของธนาคารกลาง โดยหันมาใช้นโยบายเงินเฟ้อเป้าหมายซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในระบบเศรษฐกิจทั่วโลก นโยบายเงินเฟ้อเป้าหมายนี้ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในกรอบต่างจากในอดีต คือ การว่างงานลดลงอาจนำไปสู่การคาดการณ์ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น
(๒.) ความถี่ในการปรับราคาเพิ่มขึ้นลดลงเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ดังนั้นแม้ว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ถ้าค่าเฉลี่ยอยู่ในกรอบที่กำหนดจึงไม่จำเป็นต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ในระยะสั้น การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จะไม่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับราคา ความสัมพันธ์จะลาดมากขึ้นเมื่อขนาดการเปิดประเทศมากขึ้น
ผลกระทบเชิงโครงสร้่างระหว่างความสัมพันธ์ของช่องว่างเงินเฟ้อ และช่องว่างผลผลิต เนื่องมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้
(๑.) การค้า และการลงทุนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และความชำนาญเฉพาะทาง ส่งผลดังนี้
(๑.๑) ลดการตอบสนองของเงินเฟ้อต่อช่องว่างผลผลิตในประเทศ
(๑.๒) เพิ่มการตอบสนองต่อระดับดุลยภาพจากอุปสงค์ และอุปทานนอกประเทศ
ข้อสรุปนี้ยืนยันได้จากการศึกษาเชิงประจักษ์ ของ BIS โดย Borio และ Filardo
(๒.) การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากประเทศที่มีความเหลือเฟือของแรงงาน ไปลดการตอบสนองต่อวัฏจักรส่วนต่างกำไร อันเนื่องมาจากธุรกิจมีบทบาทน้อยลงในการเข้าไปแทรกแซง คือ สามารถเพิ่มราคาเมื่ออุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น
(๓.) ต้นทุนการผลิตมีการตอบสนองต่อวัฏจักรธุรกิจน้อยลง เห็นได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการย้ายการผลิตไปยังจีน อินเดีย และยุโรปตะวันออก ทำให้แรงงานเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดในการเรียกร้องเพิ่มค่าจ้างในขณะที่การว่างงานลดลง หรือกล่าวได้ว่าจำกัดผลกระทบที่เกิดจากต้นทุนแรงงานหน่วยสุดท้าย เมื่อมีการผลิตเพิ่มขึ้น
(๔.) การอพยพแรงงาน ในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ สองในสามของแรงงานที่เพิ่มขึ้นมาจากการอพยพ ขนาดของการอพยพจะสะท้อนส่วนต่างของค่าจ้างระหว่างประเทศ ในปัจจุบันธุรกิจมีแนวโน้มที่สูงขึ้นในการใช้แรงงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการพบว่า มันเป็นการยากในการหาแรงงานเพิ่ม แทนที่จะเพิ่มค่าจ้างเพื่อจ้างแรงงานนั้นจากบริษัทอื่น เราสามารถนำแรงงานจากต่างประเทศมาใช้แทน
ข้อสังเกต การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผลผลิต และต้นทุนแรงงานลดลง
ในบางครั้งผลจากโลกาภิวัฒน์อาจก่อให้เกิดผลในทางตรงข้าม คือ ด้วยแรงกดดันจากสภาวะการแข่งขันที่สูงในโลกปัจจุบันนี้ อาจหมายถึงกำไรที่จะต้องสูญเสียไปจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการกำหนดราคาที่ผิดพลาด ทำให้ธุรกิจนั้นต้องมีการปรับราคาที่ดีมาก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างช่องว่างเงินเฟ้อและช่องว่างผลผลิตเป็นไปในลักษณะที่ชันมากขึ้น
จากการทำแบบสอบถามโดยหน่วยงานของสหภาพยุโรปไปยังบริษัทต่างๆ เพื่อดูรูปแบบการ เปลี่ยนแปลงราคาสินค้าโดยแยกเป็นหมวดต่างๆ พบว่า มีแนวโน้มในการเพิ่มขึ้นของความถี่ในการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าในทุกหมวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดที่ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์มากที่สุด การเพิ่มขึ้นของความถี่ในการเปลี่ยนแปลงของราคาในธุรกิจค้าปลีกเป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงภาวะการแข่งขันที่สูงมาก จนเรียกว่า “Tesco Effect” เป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีจนสามารถตั้งราคาที่ได้เปรียบในการแข่งขันโดยง่ายมาก
ที่ผ่านมาเป็นการอธิบายถึงผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ต่อการตอบสนองภาวะเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ สำคัญยิ่งกว่านั้นโลกาภิวัฒน์ได้เปลี่ยนกระบวนการตอบสนองของภาวะเงินเฟ้อด้านอุปทาน เห็นได้ชัดจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่า ภายในเวลาเกือบสองปี ซึ่งถ้าเป็นในอดีตแล้วอาจมีความกังวลที่จะนำไปสู่ “ภาวะเวินเฟ้อรุนแรง” (Inflationary) แต่ด้วยผลจากโลกาภิวัฒน์ทำให้ราคาสินค้านำเข้าลดลง ขณะที่ภาคการผลิตมีการพึ่งพาน้ำมันน้อยลงเหลือ ๑ ใน ๒ ของทศวรรษที่ ๗๐ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่การเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้นเพื่อที่จะรักษาอำนาจซื้อของรายได้ให้คงเดิม
จากเหตุการณ์พบว่า ค่าจ้างมีระดับคงที่เป็นเวลานาน ไม่มีการขึ้นค่าจ้างเลยในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากดัชนีราคาได้เพิ่มสูงขึ้นในเวลานั้น อัตราการเปลี่ยนแปลงของอำนาจซื้อของค่าจ้างชะลอตัวเนื่องด้วยเหตุ ดังนี้
๑.) อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. ๒๐๐๕ (ไม่มีนัยสำคัญในการกำหนด)
๒.) ภาวะการกดดันอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่สูงยังส่งผลกระทบไปยังกระบวนการปรับขึ้นของต้นทุนพลังงานในภาคธุรกิจ ซึ่งโดยปกติแล้วจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้า และบริการที่ได้รับผลกระทบปรับตัวเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน พบว่า ภาคธุกิจพยายามหาช่องทางในการลดต้นทุน อาทิ การลดค่าจ้าง การลดราคาสินค้าขั้นกลาง หรือการเพิ่มประสิทธิภาพ จากแบบสอบถามภาคธุรกิจของบริษัททั่วโลก พบว่า น้อยบริษัทที่จะขึ้นราคา ในทางกลับกันพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการจ้างงาน ลดค่าจ้าง และลดต้นทุนอื่นๆ ผลลัพธ์ที่ตามมาจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปได้ว่ายังอีกห่างไกลที่จะส่งผลให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น
จากทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้ว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลง อันเนื่องมาจากอิทธิพลของโลกาภิวัฒน์ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ดังนี้
๑.) การลดลงของการส่งผ่านต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นไปยังค่าจ้าง และราคาสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับธนาคารกลาง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างช่องว่างเงินเฟ้อ และช่องว่างผลผลิตมีแนวโน้มลาดลงมากขึ้น นั่นสามารถตีความได้ว่า หลายๆสิ่งจะดีขึ้น คือ ไม่ว่าจะเป็นช็อคจากอุปสงค์ หรือความผิดพลาดของการดำเนินนโยบาย ไม่ส่งผลให้เกิดความผันผวนของเงินเฟ้อจนออกนอกระดับเป้าหมาย
๒.) การเปลี่ยนแปลงของระดับอุปสงค์รวมมีความสำคัญน้อยลงในการกำหนดเงินเฟ้อ
๓.) โลกาภิวัฒน์จะชักจูงการดำเนินนโยบายทางการเงิน โดยให้ความสำคัญมากขึ้นในการลดเงินเฟ้อ โดยยอมเสียต้นทุนค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากส่วนต่างผลผลิตที่มากขึ้นสามารถยืนยันได้จากการพิสูจน์โดยการเปรียบเทียบสัมประสิทธิ์ถ่วงน้ำหนักของส่วนต่างผลผลิต ภายใต้เงื่อนไขของระดับการเปิดประเทศที่แตกต่างกัน ในสมการการสูญเสียที่ได้จากสมการสวัสดิการสังคมบนพื้นฐานอรรถประโยชน์ส่วนบุคคล พบว่ายิ่งมีการเปิดประเทศมากขึ้นขนาดของสัมประสิทธิ์ถ่วงน้ำหนักของส่วนต่างผลผลิตยิ่งลดลง
ดังนั้น ถ้าหากเงินเฟ้ออยู่เหนือระดับเงินเฟ้อเป้าหมายแล้ว นั่นหมายถึง การลดลงของระดับเงินเฟ้อจะนำมาสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และยาวนาน ดังนั้นยิ่งทำให้มี Premium มากขึ้นในการรักษาให้ความคาดหวังเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับเป้าหมาย อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า เรารู้น้อยมากในรูปแบบการสร้างความคาดหวังของผู้บริโภค ทางที่ดีที่สุดขั้นแรก คือ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และความสำคัญอย่างมากในการดูแล เฝ้าระวังสัญญาณเงินเฟ้อ ทั้งในตลาดสินค้า บริการ และตลาดแรงงาน

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

อุดมศึกษาในยุคโลกกาภิวัฒน์

กระแสของอุดมศึกษาของโลก ปัจจุบันกระแสของการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตกอยู่ภายใต้กระแสของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งจะตั้งใจรับหรือไม่ตั้งใจรับมันก็จะมาเองโดยไม่ต้องเชิญ กระแสนั้นแบ่ง ๖ กระแสหลักได้แก่
๑. กระแสของเพื่อคนส่วนใหญ่ หรือที่เรียกว่า Massification หรือที่เรียกอีกอย่างว่า Universilization ที่ถือว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาควรจะต้องจัดเพื่อให้คนส่วนใหญ่ของสังคม หมายความว่าทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน หรือจัดให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ของบุคคลที่จะได้รับ เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้ ในลักษณะอย่างนี้เราจะเห็นแนวโน้มการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างในสหรัฐอเมริกา ในญี่ปุ่น ยุโรปนั้น ของเขาอาจเรียกได้ว่าก้าวสู่ Mass Education แล้ว นั่นคือคนของเขาที่จบชั้นมัธยมศึกษาได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ๘๐ – ๙๐ % ซึ่งในสังคมไทยเราจะเห็นมหาวิทยาเปิดมากขึ้น มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น อย่างตามมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยราชภัฏ เปิดโครงการพิเศษขึ้น รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ มี Campus มากขึ้นและเปิดโครงการพิเศษกันมากขึ้น
๒. กระแสของความเป็น Privatization หรือบางทีเรียกว่า Corporatization หรือ Corporate และที่เราได้ยินกันเสมอก็คือ Autonomous University นั่นเอง นั้นก็คือการที่จะพยายามจะจัดการและดูแล และดำเนินการให้การศึกษาระดับอุดมศึกษามีลักษณะที่ดี ดำเนินการในรูปแบบของเอกชน ในรูปแบบของคณะกรรมการ ในรูปแบบที่ให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระ มีความคล่องตัวในการจัดการบริหาร ไม่เป็นระบบราชการ แนวคิดอันนี้มีความหลากหลาย เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าแบบอย่างอันนี้นั้นที่จริงแล้วเป็นแบบอย่างที่มาจากสหรัฐอเมริกา ระบบของอเมริกานั้นถือว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นธุรกิจ มีการบริหารในรูปของคณะกรรมการ จากกระแสแนวคิดนี้แบ่งออกเป็น ๓ วิธีย่อย คือ
๒.๑ เป็นลักษณะเอกชนเต็มตัว มีการจัดการบริหารแบบมหาวิทยาลัยเอกชน หาเงินแบบเอกชน นักศึกษาต้องจ่ายแพงขึ้น เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะต้องหาเงินมาสำหรับใช้จ่ายเองโดยตรงรัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยมาก นี้เรียกว่าการบริหารจัดการเป็นแบบเอกชนเต็มรูปแบบ
๒.๒ เป็นลักษณะการบริหารมีความเป็นอิสระ โดยมีคณะกรรมการดูแล ที่เรียกว่า Corporate ก็คือคณะกรรมการดูแล แต่ด้านการเงินหรืองบประมาณยังเป็นของรัฐอยู่เป็นส่วนใหญ่ รัฐบาลเองยังให้เงินมาแต่ให้เงินมาค่อนข้างอิสระและรัฐมีมาตรการมาดูแล โดยให้มีคณะกรรมการมาดูแลการเงินนั้น รูปแบบนี้หลายส่วนยังค่อนข้างเป็นราชการ
๒.๓ เป็นลักษณะ Autonomous University มหาวิทยาลัยค่อนข้างเป็นอิสระ นั่น คือให้มหาวิทยาลัยมีสิทธิที่จะตัดสินใจดำเนินการดูแลภายใต้จุดมุ่งหมาย กระบวนการ วิธีการของมหาวิทยาลัยเอง แต่รัฐยังให้เงินดูแลในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายหลัก ๆ และมหาวิทยาลัยเองก็มิสิทธิที่จะหาเงินเข้ามาสมทบได้ การบริหารจะไม่ใช่แบบปกติ หากเป็นการบริหารภายใต้กรอบของมหาวิทยาลัย รัฐจะดูแลเงินในระดับหนึ่งที่เป็นพื้นฐาน

๓. กระแสของความเป็น Marketization คือทำให้มหาวิทยาลัยเป็นระบบการตลาด เป็น Competition มีการแข่งขัน และเป็นระบบ Consumerlization คือการจัดการบริหารสนองประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังเดินและปรับทิศทางให้สอดคล้องกับควมต้องการของตลาดเป็นหลักสำคัญ นั่นคือในสาขาวิชาที่เปิดสอนต้องเป็นสาขาวิชาที่ตลาดต้องการ ในแต่ละหลักสูตรต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับตลาดต้องการ และบัณฑิตที่จบออกไป ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ตลาดต้องการ ตลาดต่อตลาดก็มีการแข่งขันกัน ให้มหาวิทยาลัยเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง
๔. กระแสของความมาตรฐาน Standardization คือเมื่อมีการแข่งขันเต็มที่แล้ว พอไปถึงระดับหนึ่งก็จะมีการประกาศลดราคา มีการลดแลกแจกแถม เพื่อแย่งลูกค้ากัน การลดราคาทางการศึกษา หมายถึงการลดคุณภาพลง มาเรียนกับฉันจบแน่ ตามที่พูดกันเสมอว่า “จ่ายครบต้องจบแน่” ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เราจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีการโฆษณากันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่แตกต่างอะไรกับห้างสรรพสินค้า ด้วยเหตุนั้นก็จะเกิดกระแสที่เราเรียกว่า Standardization หรือกระแสของคุณภาพ Quality กระแส Excellent นั่นคือ ทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ เรื่องมาตรฐาน เรื่องความเป็นเลิศ ของการอุดมศึกษา การประกันคุณภาพการศึกษาจึงมีอยู่ทั่วโลก
๕. กระแสของ Globalization หรือ Internetionlization หรือไม่ก็เรียกว่า Virtualization ทั้งสาม คือ Globalization หรือ Internetionlization หรือ Virtualizationและเรียกอีกว่า Networking ทั้งสามคำนี้เป็นระบบของโลกาภิวัตน์ เป็นระบบนานาชาติ ระบบเครือข่ายของ Globalization คือทำให้โลกทั้งโลกเป็นโลกใบเดียวกัน คือการศึกษาจะต้องสื่อสารถึงกันทั่วโลก เดิมเป็น Internationlization. ความแตกต่างอยู่ที่ว่าเป็น Inter. Internationlization. หมายความว่า Nation ต่อ Nation ยังมีอยู่ แล้วก็มามี Inter มาเกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้มันไม่มี Nation เพราะมันกลายเป็น Global มันสามารถสื่อสารถึงกันได้ แต่ก่อนเวลาติดต่อผ่านต้องติดต่อผ่านประเทศแต่ละประเทศเข้ามาก่อน ขณะนี้คนแต่ละประเทศไม่ต้องติดต่อผ่านแล้วสามารถโยงถึงกันได้เลย Globalization เริ่มเมื่อไร แนวคิด Globalization จริง ๆ เริ่มเมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกพังลง เพราะเดิมมันผ่านกำแพงไม่ได้ เหตุเพราะความเป็นชาติคอมมิวนิสต์อยู่ พอค่ายคอมมิวนิสต์พังลงมาเท่านั้นสื่อสารทั้งหมด ความเป็น Globalization เกิดขึ้นมาอย่างชัดเจน ต่อไปมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะจัดการในเรื่องของหลักสูตร การเรียนการสอน อาจารย์ อาจเรียนและสอนร่วมกัน ทำงานร่วมกัน เพราะความเป็น Globalization ไม่มีขั้นตอนของความรู้ คณาจารย์และนักศึกษามีการแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างหลากหลายและรวดเร็ว ตรงนี้เองที่ทำให้การศึกษาเปลี่ยนแปลง เพราะความรู้มันไปรวดเร็วเหลือเกิน๖. กระแสของ Technologilization หรือกระแสของ Technology และกระแสของ Technologilization และจะเป็นกระแสที่มีความสำคัญมาก เพราะความเติบโตของ Technology นี้เองที่ทำให้กระแสของนานาชาติเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ความเป็น IT ,ICT, Information และ Communication Technology ทำให้ Massification มันกว้างขวางออกไป เรียนทางทีวี เรียนทางวิทยุ ทาง Electronic หรือที่เรียกว่า E – Learning ทำให้ระบบการจัดการสมัยใหม่เข้ามาได้ มันทำให้ระบบตลาดเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทำให้นานาชาติเกิดขึ้น IT มีทั้งของมันเองที่มันกลายเป็น Virtual University กลายเป็นมหาวิทยาลัยเสมือน Virtual Library ห้องสมุดเสมือน Virtual Classroom ห้องเรียนเสมือน
กระแสต่าง ๆ เหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในการศึกษาระดับอุดมศึกษาภายใต้กระแสของโลกาภิวัตน์ (Globalization) และกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้นแต่ละประเทศก็จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ละประเทศคงหลบเลี่ยงระบบนี้ไปไม่ได้
ขณะนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีการประกาศข่าวทางการศึกษา รับสมัครทางอินเตอร์เน็ต ค้นคว้าหาความรู้ทางอินเตอร์เน็ต งานวิจัย วิทยานิพนธ์ลงในอินเตอร์เน็ต และ Web site สถานศึกษา ครูอาจารย์ และเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับประถม มัธยมเขาหาข้อมูลทำรายงานทาง Internet กันทั้งนั้น
แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่มั่นใจว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยกำลังเดินตามกระแสใดในจำนวน ๖ กระแสหลักของมหาวิทยาลัยทั่วโลกนั้น แต่เกรงว่าอ้างความเป็น Massification หรือที่เรียกอีกอย่างว่า Universilization อ้างเพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคม โดยต้องการจะเป็น Privatization หรือเรียกว่า Corporatization หรือ Corporate และนั่นก็คือ Autonomous University นั่นเอง แต่มีเป้าหมายจะเดินไปสู่ความเป็น Marketization คือทำให้มหาวิทยาลัยเป็นระบบการตลาด เป็น Competition มีการแข่งขันกันในเชิงการตลาด เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมหรือกระตุ้นโลภะให้กระเพื่อมมากขึ้น นั่นหมายถึงการศึกษาที่ผลิตนักบริโภคนิยม และเป็นระบบ Consumerlization คือการจัดการบริหารสนองประโยชน์ของลูกค้ากลุ่มทุนนิยมเป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังเดินและปรับทิศทางให้สอดคล้องกับควมต้องการของตลาดแบบสังคมบริโภคนิยมอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่อิสระภาพที่ไม่มีคุณภาพ
มีกรณีตัวอย่างให้เห็น อย่างการกระจายอำนาจออกสู่ท้องถิ่น มีองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เจตนาเพื่อให้มีการกระจายบริหารจัดการออกสู่ท้องถิ่น เพื่อให้การจัดการบริหารโดยคนในท้องถิ่น เพื่อคนในท้องถิ่นได้คิด ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นของเขา มีความรักหวงแหนในวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น จะได้จัดการบริหารโดยคนในท้องถิ่นอย่างอิสระ แต่ประเด็นที่ควรระวัง วิธีคิดของคนในองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น กลับไม่มีความเป็นอิสระ ความคิดยังถูกจำจองพันธนาการด้วยโซ่ตรวนร้อยรัดทางจิตวิญญาณ มีความเป็นไปแบบระบบราชการในฐานะความช้าในการตัดสินใจ หลายขั้นตอน วิธีคิดที่สวามิภักดิ์ต่อส่วนกลาง อยากให้เป็นแบบส่วนกลาง อยากเป็นระบบราชการ แล้วอยากกระจายการบริหารงานออกไปทำไม น่าสนใจ ประเภทตัวเป็นไทแต่ใจเป็นทาส ด้านการเมืองไทยมีปัญหาความมั่นคงของคณะรัฐบาล มีการอภิปรายกันไปกันมา นักการเมืองย้ายพรรคง่าย ขายตัวคล่อง นักลงทุนทั้งต่างชาติและในชาติเดียวกันขาดความมั่นใจในความไม่แน่นอนของคณะรัฐบาล ไม่แน่นอนในนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติเพื่อให้นักการเมืองย้ายพรรคยากขึ้น ให้คณะรัฐบาลมีความมั่นคง อภิปรายซักฟอกรัฐมนตรียากขึ้น โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ในที่สุดก็เกิดปัญหาใหม่ ที่สืบเนื่องจากความมั่นคงของรัฐบาล เพราะไม่ได้มั่นด้วยการทำความดี ความถูกต้อง แต่กลับร่วมหัวกันทั้งคณะรัฐบาลโกงบ้านโกงเมือง ทำให้บ้านเมืองกลายเป็นบริษัทที่คณะบุคคลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ชาติล่มจมแต่คณะบุคคลรวยขึ้น “ประเทศชาติยากจน ประชาชนเป็นหนี้ ที่รวยอยู่ไม่เพียงกี่ตระกูล” และทำให้อาจารย์ที่เก่ง ๆ นักกฎหมายที่เก่ง ๆ ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และรวมทั้งนักการเมืองที่ดีตลอดทั้งผู้บริหารที่ดีพลอยเสียผู้เสียคนมากต่อมาก เพราะได้ผู้นำประเทศที่มีจิตใจขาดศีลธรรมเข้ามาบริหาร ให้เกิดเป็นความมั่นคงคู่กับความไม่ดี กว่าจะกำจัดออกไปได้เมืองไทยต้องกลับย้อนยุคไปใช้กระบอกปืนอีกครั้ง จึงเกิดเหตุการณ์ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ขึ้น นี้เป็นประวัติศาสตร์อีกย่อหน้าหนึ่งของสังคม
ที่ยกมากล่าวเพื่อให้เห็นว่าความมีอิสระภาพโดยระบบ แต่ได้คนที่ไม่มีคุณภาพไปใช้ในระบบนั้นมันเสี่ยงภัยมาก ความคล่องตัวในทางที่ไม่ดี เหมือนเรื่องที่กำลังพูดถึงกัน คือมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หรือให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยเจตนาก็เพื่อต้องการให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการบริหาร รัฐจะโยนงบประมาณให้เป็นก้อน แล้วไปจัดการบริหารกันเอง โดยรูปแบบของคณะกรรมการ และนอกนั้นไปหางบประมาณเพิ่มเติมเอง ตามแต่คณะกรรมการ หรือตามความรู้ความสามารถของคณะกรรมการ พูดตรง ๆ หลายฝ่ายไม่มั่นใจในศักยภาพของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในคณะกรรมการของมหาวิทยาลัย เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ามีอิสระบนฐานคิดอย่างไร อิสระไปสู่ทิศทางใด เพราะขณะนี้คนในมหาวิทยาลัยคาดว่าจำนวนมากถูกครอบงำโดยค่านิยมแบบสังคมบริโภคนิยม มีแนวคิดเชิงธุรกิจทางการศึกษา มองความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ละเลยความคุ้มทุนทางสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้หากให้ความอิสระแบบปล่อยเสือเข้าป่า เมื่อหิวมาสิ่งที่เสือจะกินก็คือสิ่งอยู่ใกล้ตัวมัน หมาอยู่ใกล้กินหมา วัวอยู่ใกล้กินวัว หากเป็นคณะกรรมการประเภทเสือหิว อะไรที่อยู่ใกล้ก็คือนักศึกษาขึ้นค่าเล่าเรียน เดือดร้อนผู้ปกครอง คนยากจนจะโดนตัดสิทธิ์โดยระบบ โดยกระบวนการ แน่นอนอาจบอกว่าทุกคนยังมีสิทธิเรียนได้ แต่โอกาสที่จะใช้สิทธิ์สิแตกต่าง

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

ภารกิจของชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของกระแสโลกาภิวัฒน์


ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า สังคมต่างๆมีรากเหง้าติดอยู่กับโลกธรรมชาติมากกว่าโลกในยุคปัจจุบันมาก ระบบเศรษฐกิจในยุคนั้นเป็นระบบเกษตรกรรมและหัตถกรรม แบบพึ่งพากันและกันในท้องถิ่น รวมทั้งพึ่งพาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และธรรมชาติทั้งหมดมากกว่ายุคปัจจุบันมาก มนุษย์เรามีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัฒนธรรมและธรรมชาติ ไม่ต้องผ่านสื่อและพ่อค้าคนกลาง การที่มนุษย์ในสมัยนั้นได้เห็น และมีประสบการณ์กับมนุษย์คนอื่นๆ ในชุมชนโดยตรง เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจทางจริยธรรมของมนุษย์แต่ละคน คำสอนของพระพุทธเจ้า ได้พัฒนาขึ้นในบริบทของสังคม ที่หล่อหลอมโดยความสัมพันธ์โดยตรงของมนุษย์กับชุมชน และโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

พุทธศาสนาคือเรื่องของชีวิต คือเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมชาติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และอย่างเป็นวัฏจักร การเกิดและการตาย ความดีใจและความเศร้าโศก ดอกไม้บานแล้วก็เหี่ยว พระจันทร์ข้างขึ้นและข้างแรม พุทธศาสนาคือเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอนิจจัง (ไม่คงทนถาวร) และความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตทุกสิ่ง

แต่ในโลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและการผลิตขนานใหญ่แบบอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ถูกแบ่งแยก ทั้งระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย โลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทำให้ชีวิตประจำวันของเรา ต้องพึ่งพาโลกแบบใหม่ที่ถูกสร้างโดยคน - ระบบเศรษฐกิจแบบค้าขาย พลังงานไฟฟ้า รถยนต์และถนน ระบบการแพทย์สมัยใหม่ ฯลฯ เป็นส่วนใหญ่ การพึ่งพาในลักษณะเช่นนี้ ทำให้เราเชื่อว่า เราต้องพึ่งพาโลกของเทคโนโลยีมากกว่าโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

เมื่อขนาดของระบบเศรษฐกิจขยายใหญ่โต และเรากลายเป็นเพียงผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่เป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกของคนหกพันล้านคน ยิ่งเป็นการยากที่เราจะรู้ถึงผลกระทบของเรา ต่อธรรมชาติและต่อคนอื่นๆ ในสังคมเหมือนในชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม ที่คนในชุมชนรู้จักกันและสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในสังคมแบบชุมชนดั้งเดิม เรารู้ว่าดารเพาะปลูกของเราจะมีผลกระทบต่อดินและต่อคนในชุมชนที่ซื้อของจากเราไปกินอย่างไร เรามีความรับผิดชอบ ความห่วงใย ต่อสุขภาพ/สวัสดิการของพวกเขาโดยตรง

ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เราต่างคนต่างเป็นผู้ผลิต ในระบบอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ และส่งสินค้าผ่านต่อคนอื่น ไปให้คนที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร เพียงเพื่อผลกำไรและเงินของใครของมัน ทำให้เราไม่รู้สึกผูกพันรับผิดชอบ ต่อผลกระทบ ต่อการกระทำของเรา เมื่อเทียบกับการผลิตในระบบเศรษฐกิจชุมชนชนบทแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในชุมชนมากกว่าแค่การผลิตสินค้าไปขายแลกกับเงิน

การแยกตัวออกจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และความผูกพันของมนุษย์ ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มาจากและสะท้อนถึงการมองโลกแบบแยกส่วน ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับคำสอนของพุทธศาสนา ซึ่งมองสรรพสิ่งแบบเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า มนุษย์เราเป็นปัจเจกชน ที่แยกออกมาจากธรรมชาติ และมนุษย์สามารถที่จะเอาชนะโลกธรรมชาติได้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการบริหารจัดการสมัยใหม่

โครงสร้างและสถาบันของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมมีพื้นฐานอยู่บนความโง่เขลาและความโลภของมนุษย์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคำสอนของพุทธศาสนาที่มองว่า มนุษย์เราเกิดมาต้องพึ่งพากันและกัน พึ่งพาสรรพสิ่งในโลกธรรมชาติ และสรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีความยั่งยืนถาวร จะต้องสิ้นอายุสูญสลายไปในวันหนึ่ง ดังนั้น เราจึงควรใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่เอาเปรียบผู้อื่น และใช้ชีวิตแบบเดินสายกลาง ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

ชาวพุทธที่รับผิดชอบต่อสังคม (รวมทั้งชาวคริสต์ ชาวมุสลิม ฯลฯ ด้วย) ควรจะใช้หลักคำสอนของศาสนา มาตรวจสอบแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันอย่างพินิจพิจารณา ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากพวกเราช่วยกันพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว เราจะเห็นได้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน เดินไปคนละทางกับเศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ และเราควรจะคัดค้านอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่สอดคล้องกับปรัชญาชาวพุทธ

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และโลกาภิวัฒน์ (การทำให้การผลิตและการบริโภคของคนทั่วโลก เป็นแบบเดียวกัน) ภายใต้การครอบงำของบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ กำลังทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจเดี๋ยว ที่จะนำโลกทั้งโลกไปสู่หายนะภัยครั้งใหญ่ รากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก วางอยู่บนแนวคิดแคบๆเกี่ยวกับความต้องการและแรงจูงใจของมนุษย์ว่า เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน โดยมองข้ามความสัมพันธ์ด้านที่ไม่ใช่วัตถุของชีวิต เช่น เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน การมีงานที่ให้ความหมาย ความพอใจซึ่งมีค่ามากกว่าเงิน ความสัมพันธ์ด้านคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งไม่อาจซื้อได้ด้วยเงิน

เหตุที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก เน้นที่ความสัมพันธ์ของการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงิน เพระพวกนายทุนและผู้สนับสนุนเชื่อว่า มนุษย์เรามีแรงจูงใจขั้นพื้นฐานที่เห็นแก่ตัว และมีความต้องการทางวัตถุอย่างไม่มีขอบเขต แทนที่พวกนายทุนและผู้สนับสนุน จะส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักควบคุมแรงจูงใจทางธรรมชาติ ในการไขว่คว้าที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง พวกเขากลับใช้จุดอ่อนของมนุษย์ ที่จะเพิ่มการผลิตการขายสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มกำไรส่วนตัวของพวกเขา พวกเขาอ้างว่า “มือที่มองไม่เห็น” ในกลไกตลาดที่มีการแข่งขันเสรี จะทำให้กิจกรรมที่เห็นแก่ตัวของมนุษย์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยอัตโนมัติ

แต่ระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ ที่ถูกครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติ จริงๆแล้วมีความหมายอย่างไร? ความหมายหนึ่งของโลกาภิวัฒน์ คือ “โลกที่มีการบริโภคแบบเดียวกันทั่วโลก” โลกซึ่งคนทุกคนกินอาหารที่มาจากการผลิต ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบเดียวกัน ใส่เสื้อผ้าตะวันตกแบบเดียวกัน มีบ้านสมัยใหม่ สร้างวัสดุจากโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดียวกัน โลกซึ่งทุกประเทศใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกัน พึ่งระบบเศรษฐกิจที่มีการบริหารจัดการจากสำนักงานแม่ของบรรษัทข้ามชาติ ระบบเดียวกัน จัดการศึกษาแบบตะวันตกเหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน (ภาษาอังกฤษ ภาษาคอมพิวเตอร์ ภาษาซื้อขายด้วยเงินของทุนนิยม) บริโภคสื่อแบบเดียวกัน โดยสรุปแล้ว ระบบโลกาภิวัฒน์คือ ระบบที่ทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ มันหมายถึงการสร้างวัฒนธรรมเดี่ยว คือ วัฒนธรรมทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตก

ความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของคนหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ หลายศาสนา สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ ต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของพวกเขาที่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอด และพัฒนาได้จนถึงวันนี้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ช่วยให้มนุษย์เราเกิดการปลกเปลี่ยนเรียนรู้ การปรับตัวการแก้ไขสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีขึ้น ช่วยให้โลกเกิดความร่ำรวยและสีสันที่น่าสนใจ

แต่การขยายตัวของระบบโลกาภิวัฒน์ กำลังทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรม (และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต) อย่างรวดเร็ว ระบบโลกาภิวัฒน์สร้างเมืองแบบป่าคอนกรีต และถนนหลายช่องแบบเดียวกันทั่วโลก สร้างภูมิสถาปัตย์แบบเดียวกันในทุกมุมโลก เมืองที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า ห้างสะดวกซื้อ ร้านอาหารแบบสำเร็จรูป ป้ายโฆษณาหนังฮอลีวู้ด โทรศัพท์มือถือ กางเกงยีนส์ เครื่องสำอาง บุหรี่ เบียร์ เหล้า จากตะวันตก ฯลฯ

ระบบการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่เข้ามาแทนที่การผลิตเพือเลี้ยงชีพ ในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของชุมชนทำให้มนุษย์เหินห่างตัดขาดจากวงจรของธรรมชาติเพิ่มขึ้น การเกษตรแบบพึ่งแรงงานธรรมชาติเพื่อการเลี้ยงชีพ ถูกทำให้เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม เพื่อขายและส่งออก ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการใช้ปุ๋ยและเคมี การวางแผนและการจัดการจากบริษัทส่งออก เพื่อให้ได้สินค้าเกษตร ชนิดที่จะขนส่งไปขายทางไกล ในราคาที่แข่งขันกับผู้ผลิตผู้ส่งออกรายอื่นๆในตลาดโลกได้

ในกระบวนการดังกล่าวนี้ เกษตรกรผู้เคยวางแผนเอง ซึ่งเคยอิสระทำทุกอย่างด้วยตัวเอง รวมทั้งควบคุมการผลิตและชีวิตของตัวเอง ได้กลายเป็นลูกหนี้หรือลูกจ้างในระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ที่ต้องขึ้นต่อการใช้ทุน การใช้เครื่องจักรที่กินน้ำมัน การใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมีมากขึ้น การเพาะปลูกพื้นที่เป็นอาหารหลากหลาย เพื่อการบริโภคของชุมชนในท้องถิ่น กลายเป็นการปลูกพืชเดี่ยวเพื่อการส่งออก

ระบบโลกาภิวัฒน์ที่สร้างวัฒนธรรมเดี่ยว มาแทนความหลากหลายทางวัฒนธรรม กำลังมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มซีกโลกใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่มากกว่าที่อื่นๆ ในกลุ่มซีกโลกใต้ประชาชนจำนวนมาก ยังอาศัยในหมู่บ้าน ยังมีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง ซึ่งใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างหลากหลาย ยังคงเชื่อมโยงแบบอาศัยโลกธรรมชาติ มากกว่าโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่แรงกดดันจากระบบโลกาภิวัฒน์ กำลังทำลายระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของท้องถิ่นอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

คนจนถูกบีบให้อพยพจากชนบทเข้าเมือง และหมู่บ้านเองก็ถูกทำให้เป็นชุมชนชานเมือง ประชาชนที่เคยพึ่งตนเองในระดับชุมชนได้ ต้องกลับมาขึ้นต่อสินค้าอุตสาหกรรมจากโรงงานและร้านค้า ประชาชนผู้เคยภูมิใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง กลับรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนในเมือง และต้องพยายามเลียนแบบคนในเมือง การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่นที่ประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลวางแผนว่า ประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้น 440 ล้านคน ใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่สูงกว่า อัตราการเพิ่มของประชากรจีนทั้งประเทศหลายเท่า

การพัฒนาของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ไม่เพียงแต่ผลักดันให้เกษตรกรต้องทิ้งถิ่นฐานจากชุมชนชรบทเท่านั้น มันยังทำให้โอกาสในการหางานทำ อำนาจทางการเมืองรวมศูนย์อยู่ในเมือง และทำให้เมืองมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งสื่อมวลชนและการโฆษณาสินค้า ก็ช่วยสร้างแรงผลักดันทางจิตวิทยา ให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปแสวงหาชีวิตที่ “เจริญกว่า” ซึ่งหมายถึงการได้ทำงาน เพื่อมีเงินบริโภคสินค้าสมัยใหม่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากตำแหน่งงานในเมืองมีจำกัด จึงมีคนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้มีชีวิตที่เจริญขึ้น คนที่อพยพจากชนบทเข้าเมือง ส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบในชุมชนแออัด ที่ขยายใหญ่โตขึ้น ทั้งๆที่ระบบโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดผลเสียหายเหล่านี้ แต่รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาก็ยังสนับสนุนนโยบายพัฒนาประเทศ ตามกระแสโลกาภิวัฒน์

ภาระกิจของชาวพุทธในระบบเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของโลกาภิวัฒน์

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551

ชุมชนในกระแสโลกาภิวัฒน์ : เปลี่ยนไปหรือเปลี่ยนแปลง

ชุมชนในกระแสโลกาภิวัฒน์ : เปลี่ยนไปหรือเปลี่ยนแปลง


ในยุคการสื่อสารรวดเร็ว โลกที่หดแคบ การสื่อสารไร้สาย สังคมยุค 3G ที่สังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าไปหาในเวลาไม่นานนัก ทำให้หลายคนเป็นห่วงว่า วัฒนธรรมของสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลง วัยรุ่นจะหลงลืมวัฒนธรรมของตนเองไป










ในชุมชนห่างไกลจากเมืองออกไปท่ามกลางขุนเขาอันซับซ้อนริมเส้นพรมแดนของประเทศไทย
ก็ใช่ว่าจะหลีกพ้นกระแสพายุของโลกแห่งการสื่อสารที่โหมกระหน่ำไปทั่วโลก โฆษณาโทรศัพท์มือถือบริษัทหนึ่ง(เดี๋ยวนี้เขาพัฒนาแล้ว) พยายามจะแสดงเห็นว่า ชุมชนเหล่านี้ก็อยู่ในกระแสนั้นพายุโลกาภิวัฒน์อันนี้เช่นกัน หลายคนอาจจะตระหนกว่า วัฒนธรรมของชุมชนแบบดั้งเดิมของพวกเขาเหล่านั้น จะถูกพัดหายไปกับกระแสพายุโลกาภิวัฒน์ เนื่องจากภาพปรากฎที่เกิดขึ้นในเมืองยังเฝ้าหลอกหลอนพวกเขาเหล่านั้นอยู่ทุกวี่ทุกวัน ภาพของสาวน้อยวัยรุ่นใส่สายเดี่ยวเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้า เดินคุยโทรศัพท์มือถืออย่างเฉิดฉายไหลเวียนอยู่ในมโนสำนึกของพวกเขาเหล่านั้น และเกรงว่าจะเกิดภาพนั้นอีกในชุมชนแถบนี้

ภาพตู้โทรศัพท์คู่เคียงข้างถนนดินลูกรัง ภาพจานดาวเทียมคู่กับกระท่อมไม้ไผ่ มองเป็นดูเป็นภาพ
ที่ขัดแย้ง ไม่ลงตัวแต่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ภาพของคนของชนเผ่าใช้อินเตอร์เน็ต ใช้โทรศัพท์
มือถือหรือพฤติกรรมของวัยรุ่นในชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างอาจจะเขย่าขวัญเขย่าความรู้สึกของ
ผู้พบเห็นบ้างนั่นแหละคงเป็นเพราะภาพของวัยรุ่นและการเปลี่ยนแปลงในเมืองยังตามมาหลอกหลอน
พวกเขาอยู่ดี

จริงหรือที่ชุมชนจะต้องถูกกระแสโลกาภิวัฒน์พัดพาทำให้เขาเปลี่ยนแปลงจริงหรือที่ทุนนิยมจะทำให้
พวกเขาเป็นเหมือนกับผู้คนในอีกซีกโลกหรือในเมืองหากมองดีๆเราจะเห็นว่าชุมชนไม่ได้ยอมให้กระแส
โลกาภิวัฒน์พัดกระหน่ำพวกเขาแต่ฝ่ายเดียวแต่หลายครั้งที่เราก็พบว่าพวกเขาก็ใช้กระแสลมนั้นซักนำ
เรือใบแห่งวัฒนธรรมของพวกเราให้โต้คลื่นกระแสของการเปลี่ยนแปลง เพื่อแสดงตัวตนและวัฒนธรรมของพวกเราให้โลกได้รู้ว่าพวกเขาคือใคร พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างไร และหลายครั้งที่พวกเขาก็ใช้กระแสลมนี้กระจายปัญหา ความทุกข์ยาก และการต่อสู้ของพวกเขาให้ทั่วโลกรับรู้ และหลายครั้งที่พวกเขาเหล่านี้ก็ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารตอบโต้กลับให้เห็นถึงความเลวร้าย ความล้มเหลวของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มาจากด้านบน
และเรียกตนเองว่าโลกาภิวัฒน์ที่มาจากด้านล่างซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายของกลุ่มคน ความหลากหลายของความคิด

หากเป็นเช่นนั้นแล้วภาพที่หลายคนหวั่นกลัวว่าจะเกิดขึ้นในชุมชน อาจจะเป็นเพียงข้อห่วงใยที่เกิดขึ้น แต่อาจจะไม่มีแต่ภาพลบ
ที่พบเห็นในเมือง

ชุมชนอาจจะไม่หยุดนิ่งให้สายลมแห่งโลกาภิวัฒน์พัดกระหน่ำแล้วผปลิวหายไปกับพายุเพียงอย่างเดียว แต่เขาอาจจะสร้างเรือใบและนำอานุภาพของกระแสลมนั้นโต้คลื่นลมเหล่านั้น เพื่อนำพาวัฒนธรรม ตัวตน ความใฝ่ฝันและปัญหาของพวกเขา บอกกล่าวแก่ชุมชนอื่น ๆ และมุ่งไปสู่สังคมที่พวกเขาต้องการได้

วัฒนธรรมที่พังทลายไปกับโลกาภิวัฒน์อาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมเหล่านั้นไม่มีรากเหง้าที่ค้ำจุน หรืออาจจะเป็นวัฒนธรรมที่มีรากเข้มแข็งลำต้นสูงใหญ่เกินไปจนไม่สามารถจะต้านทานพายุที่โหม
กระหน่ำได้ แต่วัฒนธรรมของชุมชนอาจจะเป็นวัฒนธรรมต้นหญ้าดอกหญ้าที่ปลิวไสวไปกับสายลม แม้จะพัดแรงเพียงก็ไม่อาจจะถอนรากของพวกเขาได้แต่กลับนำเมล็ดพันธ์ของวัฒนธรรมเหล่านี้
ให้แพร่กระจายไปสู่โลกกว้าง

พวกเขาอาจจะไม่ได้ถูกกระแสลมโลกาภิวัฒน์พัดพาให้หายไปและกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งยุค
โลกาภิวัฒน์เป็นเพียงผู้บริโภคของทุนนิยมข้ามชาติแต่พวกเขาอาจจะกำลังสร้างโลกาภิวัฒน์ของ
พวกเขาขึ้นมาโลกาภิวัฒน์จากด้านล่าง(GlobalizationformBelow)จากเครื่องมือของกระแส
โลกาภิวัฒน์เองก็ได้



















วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

โลกาภิวัตน์ ความมั่งคั่ง และจริยธรรม

อนุสรณ์ ธรรมใจ .. พลวัตเศรษฐกิจ
ในยุคทศวรรษ 1980 นั้นแข่งกันด้วยคุณภาพ ในศตวรรษที่ 21 ธุรกิจอุตสาหกรรมแข่งกันด้วยความเร็ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้เพิ่มมิติใหม่ๆ ในการแข่งขัน ทั้งมิติของความลึก ความเร็ว และการแผ่ขยายในวงกว้าง
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร ทำให้กระบวนการเร่งตัวของโลกาภิวัตน์เกิดขึ้นชัดเจน โลกาภิวัตน์จึงไม่เป็นเพียงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระดับโลก ซึ่งหมายถึง แนวคิดในเรื่องกาลและเทศะ (Time-Space) โดยทำให้เหตุการณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้สามารถส่งผลต่อส่วนอื่นของโลกโดยรวดเร็วไม่เคยเป็นมาก่อน
ผศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำวิจัยที่น่าสนใจเรื่อง "โลกาภิวัตน์ บรรษัทข้ามชาติ บรรษัทภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรษัท" โดยพยายามจะบอกว่า โลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของคนในโลก ทั้งในด้านการรับรู้และในด้านการกระทำที่มีต่อกันให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันโลกาภิวัตน์ได้ส่งเสริมให้บทบาทของบรรษัทข้ามชาติเกิดขึ้นในสังคมโลก จนสามารถกล่าวว่าบทบาทในด้านจัดการทางเศรษฐกิจของบรรษัทข้ามชาติได้เข้ามาแทนที่บทบาทของรัฐ
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาถึงบทบาทของบรรษัทข้ามชาติภายใต้ความสัมพันธ์กับรัฐ และเสนอว่าภายใต้พลังอำนาจที่เพิ่มขึ้นของบรรษัทข้ามชาติ ควรที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย
หากศึกษาดูบทบาทของบรรษัทข้ามชาติภายใต้ความสัมพันธ์กับรัฐ ก็จะพบทั้งอิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติที่มีต่อรัฐ และรัฐใช้บรรษัทข้ามชาติเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ
ย้อนกลับไปในยุคจักรวรรดินิยมยุโรป บริษัท East India และบริษัท British South Africa ได้อาศัยพลังอำนาจรัฐเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและธุรกิจในเอเชียและแอฟริกา หลายบริษัทก็มีประวัติต่อเนื่องยาวนานและปัจจุบันนี้ก็ยังเปิดดำเนินการอยู่ เช่น Unilever ก็มีวิวัฒนาการมาจากบริษัท Royal Niger ที่ราชสำนักอังกฤษอนุญาตให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้าไปทำการค้าในแถบแอฟริกาตะวันตก ตอนหลังไปควบรวมกิจการกับ บริษัท Lever และบริษัท United Africa
พวกนิยมโลกาภิวัตน์สายเสรีนิยมใหม่มองโลกาภิวัตน์ในด้านบวกอย่างยิ่งว่า โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจช่วยลดปัญหาความยากจน โดยมักอ้างงานศึกษาของธนาคารโลกและงานวิจัยของยูเอ็นดีพี ที่แสดงให้เห็นถึงช่องว่างรายได้สัมพัทธ์ระหว่างประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำกับประเทศอื่นๆลดลง โดยช่องว่างนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 1970 เทียบกับปี 2001 ช่องว่างลดลงจากระดับสูงสุด 88% ของรายได้มาเป็น 78%
ข้อมูลธนาคารโลกยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่เปิดตัวเองจะมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าทั้งประเทศที่รวยและประเทศที่ไม่ได้เข้าอยู่ในโลกาภิวัตน์
ผลก็คือ แทนที่ความไม่เสมอภาคในโลกจะเพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงมาก ทั้งนี้ถ้ามีการวัดจากการกระจายรายได้ส่วนบุคคล เนื่องจากประเทศที่เคยยากจนอย่างอินเดียและจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก มีการเติบโตของรายได้สูง เนื่องจากมีประชากรมากจึงดึงให้ภาพรวมของโลกในเรื่องรายได้เฉลี่ยต่อหัวดีขึ้น ทั้งสองประเทศนี้ไม่ตกขบวนโลกาภิวัตน์
ส่วนพวกที่มองโลกาภิวัตน์แบบที่เป็นอยู่เวลานี้ในแง่ร้ายมีทั้งพวกที่เห็นด้วยกับโลกาภิวัตน์ แต่ต้องการให้เป็นแบบที่ตัวเองต้องการ และพวกต่อต้านไม่เห็นด้วยกับโลกาภิวัตน์ พวกโลกาภิวัตน์นิยมสายมาร์กซิสม์ใหม่มองโลกาภิวัตน์ในเวลานี้ว่า ไปเพิ่มพลังอำนาจให้กับบรรษัท ประเทศและชนชั้นที่ร่ำรวยอยู่แล้วให้ร่ำรวยมากขึ้นไปอีก ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้น มีการผลิตและบริโภคเกินพอดีก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง
นอกจากนี้ยังมีของแถม คือการเก็งกำไรในตลาดเงินตลาดทุนระหว่างประเทศมหาศาลจนสร้างภาวะไร้เสถียรภาพ และมองว่าโลกาภิวัตน์แบบที่เป็นอยู่นี้ทำให้ความมั่งคั่งไปตกอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยและสร้างความไม่เสมอภาค
พวกสนับสนุนโลกาภิวัตน์ก็บอกว่า เศรษฐกิจเสรีจะทำให้คนรวยขึ้นและเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น
ส่วนพวกชุมชนท้องถิ่นนิยมมักวิจารณ์โลกาภิวัตน์ว่าก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เช่น การเปิดดิสเคาท์สโตร์บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ทำให้ธุรกิจรายเล็กรายย่อยในท้องถิ่นล่มสลายและยังทำลายวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม
มองอย่างเป็นกลางแล้ว บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้อาจให้ความร่วมมือกับท้องถิ่นและรัฐในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ภาษีประชาชน การมีแรงกดดันด้านการแข่งขันทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร รวมทั้งคุณภาพของสินค้าและบริการดีขึ้น
ขณะเดียวกันความยากลำบากในการทำธุรกิจของกลุ่มทุนชาติและกลุ่มทุนท้องถิ่นเกิดขึ้นพร้อมกับการแข่งขันจากคู่แข่งที่เหนือกว่าทั้งเครือข่าย เงินทุนและเทคโนโลยี นอกจากนี้แผนงานทางธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติอาจขัดแย้งกับผลประโยชน์แห่งชาติได้ และอาจจะมีการติดสินบนนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อให้บรรลุผลการดำเนินงาน อำนาจของบรรษัทข้ามชาติเติบโตต่อเนื่องพร้อมกับการสะสมความมั่งคั่งภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ อำนาจที่มากขึ้นมากขึ้น จึงต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคม บรรษัทภิบาลและจริยธรรมที่เพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว ความไม่เป็นธรรม ความขัดแย้ง และความรุนแรงย่อมติดตามมาแน่นอน
แม้นอำนาจนั้นจะยิ่งใหญ่สักปานใด ย่อมไม่อาจต้านทานกระแสความไม่พอใจของมวลชนผู้เดือดร้อนได้ครับ
25 ส.ค. 48

โดย : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27/08/2005

วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ฐานทรัพยากรไทยในโลกาภิวัตน์

จักรกฤษณ์ ควรพจน์



เสน่ห์ จามริก ได้กล่าวกับผมว่า กระแสโลกาภิวัตน์จะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการดำรงคงอยู่ของฐานทรัพยากรของไทย

และขอให้ผมช่วยทำโครงการวิจัยโครงการหนึ่งเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์และฐานทรัพยากรเพื่อจะรักษาฐานทรัพยากรของประเทศให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

ฐานทรัพยากรเขตร้อน (Tropical resources base) มีความหมายกว้างกว่าคำว่า ทรัพยากรธรรมชาติ

เพราะแสดงถึงความสำคัญเชิงคุณค่าของทรัพยากรที่มิได้มองแยกย่อยไปในรายทรัพยากร

หากแต่หมายถึงการดำรงอยู่ร่วมกันของทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภท

และรวมถึงสิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ฐานทรัพยากรมิได้มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจเท่านั้น

หากแต่เป็นปัจจัยการดำรงชีวิตของมนุษย์ในฐานะที่เป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

ตลอดจนมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมต่อวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนท้องถิ่น




โลกาภิวัตน์นั้นมีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบก็มีผลกระทบต่อฐานทรัพยากรแตกต่างกันไป

โลกาภิวัตน์ด้านการวิจัยเทคโนโลยีกับผลกระทบต่อการเกษตรของไทยก็เป็นตัวอย่างที่ดีกรณีหนึ่ง

เกษตรกรรมมีความสำคัญยิ่งต่อไทย เป็นทั้งแหล่งอาหารและสินค้าส่งออกที่นำรายได้มาสู่ประเทศ

เกษตรกรไทยได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาความรู้ด้านการเกษตรมาโดยตลอด

ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์

จากพันธุ์ธรรมชาติให้เป็นพันธุ์พื้นเมืองหรือความรู้ในระบบการเกษตรขนาดเล็กแบบผสมผสาน

ที่ช่วยดำรงความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่

ประเทศตะวันตกเล็งเห็นความสำคัญและต้องการสร้างฐานอุตสาหกรรมการเกษตรของตน

ประเทศเหล่านั้นได้พัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจะทำโดยบริษัทเอกชนเป็นส่วนใหญ่ รูปแบบและวิธีการวิจัยก็แตกต่างจากเทคโนโลยีพื้นบ้าน

จากเดิมที่การปรับปรุงพันธุ์สัตว์กระทำกันโดยอาศัยพลังธรรมชาติ การวิจัยและพัฒนาแนวใหม่ได้มุ่งไปสู่เทคโนโลยีชีวภาพ

มีการใช้เทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้มีลักษณะตามที่ต้องการ

การวิจัยและพัฒนาแนวใหมได้มุ่งไปสู่เทคโนโลยีชีวภาพ

มีการใช้เทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้มีลักษณะตามที่ต้องการ การวิจัยปรับปรุงพันธุ์จะมีเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ

เช่น มุ่งในการพัฒนาลูกผสมของพืชที่เป็นที่ต้องการของตลาดสองชนิด คือ ถั่วเหลืองและข้าวสาลี



การวิจัยแนวใหม่มิได้ช่วยเพิ่มจำนวนพันธุ์พืชที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรม หากแต่เน้นการเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรก็มักกำกับด้วยข้อตกลงผูกมัดหลายประการ เช่น มีข้อห้ามแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ข้อห้ามใช้ผลิตผลเป็นเมล็ดพันธุ์ ข้อจำกัดการส่งออก ฯลฯ



ผู้ได้ประโยชน์ คือเกษตรกรรายใหญ่และบริษัทเมล็ดพันธุ์

ส่วนเกษตรกรรายย่อยจะถูกเปลี่ยนฐานะเป็นผู้รับจ้างผลิตของบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว บริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ต่างแข่งขันกันทำวิจัย เมื่อประสบความสำเร็จเทคโนโลยีเหล่านั้นก็จะถูกจดสิทธิบัตร

โดยอ้างว่ากำไรที่ได้จะถูกใช้เพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อไป

ทั้งที่ผลการวิจัยจำนวนมากมิได้เป็นการปรับปรุงลักษณะพันธุกรรมพืชหรือสัตว์ที่เป็นประโยชน์

หากแต่ทำไปเพื่อสนองต่อการตลาดของบริษัท ด้วยการทำให้เกิดความแตกต่างของผลิตภัณฑ์เท่านั้น

สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่บริษัทเหล่านี้ถือครอง ได้ปิดกั้นการทำวิจัยของบริษัทอื่น

หรือถูกใช้เป็นเครื่องกีดกันกันเองระหว่างบริษัทเจ้าของ เช่น ขณะนี้มีสิทธิบัตรในเทคโนโลยีบีที

สำหรับการสร้างพืชดัดแปลงพันธุกรรมเป็นจำนวนกว่าหนึ่งร้องสิทธิบัตร โดยทั้งหมดเป็นสิทธิบัตของบริษัทขนาดใหญ่เพียง 4 บริษัท

แน่นอนว่าโอกาสที่บริษัทขนาดเล็กหรือนักวิจัยรายย่อยจะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ย่อมมีน้อยยิ่ง

นอกจากอาศัยสิทธิบัตรทางกฎหมาย บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ยังใช้กลวิธีการตลาดอย่างอื่นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

ไม่ว่าจะเป็น การทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไขว้กัน (Cross licensing) และการร่วมแชร์สิทธิบัตร (Patent pooling)

การควบคุมกิจการก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่บริษัทเมล็ดพันธุ์ใช้เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี

สร้างอำนาจตลาดและเพื่อเลี่ยงการแข่งขันกันเองโดยไม่จำเป็น

แต่วิธีการเหล่านี้ก็มีผลกระทบต่อการแข่งขัน จำกัดโอกาสเข้าสู่ตลาดของบริษัทขนาดเล็ก สภาพการแข่งขันที่ลดลง

และการเพิ่มขึ้นของอำนาจผูกขาดบริษัทขนาดใหญ่เป็นที่ประจักษ์ในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในระหว่างปี 2523-2532

เทคโนโลยีบีทีกว่า 50% ถูกถือครองโดยมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในสหรัฐ


ในปี 2537 สิทธิบัตรเหล่านี้ได้ถูกโอนขายให้แก่บริษัทเอกชน เหลือที่ถือครองโดยมหาวิทยาลัยและสถาบันของรัฐเพียง 23% และอีก 5

ปีต่อมาสิทธิบัตรในเทคโนโลยีบีทีทั้งหมดก็ถูกครอบครองโดยบริษัทเพียง 4 บริษัท

เป็นบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งได้รวบรวมสิทธิบัตรมาด้วยการซื้อสิทธิ

ด้วยการซื้อกิจการของบริษัทขนาดเล็กและด้วยการควบรวมกันเองระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ด้วยกัน เช่น

การควบรวมกิจการระหว่างสองบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ AstraZeneca และ Novartis กลายเป็นบริษัท Syngenta

มีผลให้บริษัทเกิดใหม่กลายเป็นผู้ถือครองเทคโนโลยีบีทีกว่า 60%

ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีตลาดเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ เช่น บราซิล เม็กซิโก

มีหลักฐานแสดงถึงการเพิ่มขึ้นของการควบรวมกิจการของบริษัทเมล็ดพันธุ์

โดยเฉพาะหลังจากที่ประเทศเหล่านั้นอนุญาตให้มีการเพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์และหลังจากที่ประเทศเหล่านั้นได้บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช

เช่น ปี 2542 มอนซานโต้สามารถขยายส่วนแบ่งตลาดเมล็ดพันธุ์ในบราซิลจาก 15% เป็น 60% แต่ในทางกลับกัน

ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทท้องถิ่นกลับลดลงเหลือเพียง 5%

การลดลงของการแข่งขันและการกระจุกตัวของเทคโนโลยีการเกษตร นับเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหาร ต่อเกษตรกรรม

และต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร การปกป้องฐานทรัพยากรด้านการเกษตรของไทย จำเป็นต้องอาศัยนโยบายที่เหมาะสม

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในสิ่งมีชีวิต การวิจัยเทคโนโลยี

การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ระหว่างเกษตรกร

และนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป

ไทยจะต้องส่งเสริมการวิจัยของสถาบันภาครัฐ เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับระบบการเกษตร

เพื่อลดการพึ่งพาบริษัทต่างชาติและทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการผูกขาดของบริษัท

โดยใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเป็นเครื่องมือ






วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ชี้กระแสโลกาภิวัฒน์ทำคนไทยเสียนิสัย


จากการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อสังคมไทย” ณ สโมสรทหารบก เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การจะบริหารจัดการสังคมให้มีภูมิคุ้มกันและสามารถที่จะอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ได้อย่างดีนั้น ทุกคนต้องร่วมกันกำหนดเป้าหมายของสังคมให้ชัดเจนตามเจตนารมณ์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ที่ต้องการให้สังคมไทย เป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุข โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะนำพาสังคมไทยก้าวไปสู่ข้างหน้าได้ นอกจากนี้ควรเน้นยุทธศาสตร์การสร้างความดี ค้นหาสิ่งที่ดีจากกระแสโลกาภิวัตน์มาใช้ รวมทั้งควรปฏิบัติตามกระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง รู้รักสามัคคี จึงจะทำให้สังคมไทยเดินหน้าไปได้อย่างเข้มแข็ง



ดร.โสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ ราชบัณฑิตสาขา จิตวิทยา กล่าวว่า สังคมโลกาภิวัตน์ทำให้นิสัยของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่เคยเป็นคนเอื้ออาทร เรียบง่าย ยึดถือในขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม เชื่อบาปบุญคุณโทษและมีความกตัญญู ก็กลายเป็นคนที่ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ ชอบแข่งขันเอาชนะและบูชาวัตถุนิยม ซึ่งถือเป็นวิกฤติที่อันตรายมากที่สุดของสังคม ตนจึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาสังคมโลกาภิวัตน์ ดังนี้ 1.ประชาชนทุกคนควรมีสติร่วมมือกันปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 2.รัฐบาลต้องปรับนโยบายวางแผนระยะยาว เพื่อรองรับสถานการณ์โลกาภิวัตน์ในอนาคตอย่างน้อย 20 ปี 3.ต้องกระจายอำนาจและกระจายรายได้สู่ชนบท 4.ปฏิรูประบบการศึกษา โดยปรับระบบการเรียนการสอนให้เน้นการสัมผัสความจริง เน้นการคิด และพัฒนาจิตใจ และ 5.ส่งเสริมสถาบันครอบครัวและชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ตลอดจนสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งหากรัฐบาลทำได้อย่างนี้จะทำให้ปัญหาสังคมลดลงได้ ทั้งปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด โสเภณี โรคเอดส์ เป็นต้น.









วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ความเสี่ยงในระบบการเงินยุคโลกาภิวัตน์


แม้ว่ากระแสโลกาภิวัตน์ด้านการเงินกำลังเอื้ออำนวยให้ผู้คนจำนวน
มากกว่าที่เคยในอดีตสามารถเข้าถึงแหล่งทุนราคาถูกที่จำเป็นอย่าง
ยิ่งต่อการยกระดับฐานะหรือคุณภาพชีวิต และนวัตกรรมทางการเงิน
ใหม่ๆ ก็ช่วยให้สถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจสามารถรองรับ
และกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าเดิม ก็ยังมีปรากฏการณ์จำนวนไม่น้อยในโลกการเงินที่ทำให้เราสงสัยว่า ระบบการเงินโลกในปัจจุบันนั้นมีระดับความเสี่ยง “น้อย” กว่าเดิมจริงหรือ และ “ผู้จัดการการลงทุน” ยุคใหม่ โดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรระยะสั้น (hedge fund) นั้น มีพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงหรือเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบการเงินกันแน่


ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2549 และต่อเนื่องจวบจนปัจจุบันคือปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของ
ลูกหนี้สินเชื่อบ้านราคาถูกในอเมริกา ส่งผลให้มูลค่าของ collateralized debit obligations (ซี
ดีโอ) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ทางการเงินที่อ้างอิงกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เหล่านั้นลด
ลงอย่างฮวบฮาบ ทำให้กองทุนจำนวนมากที่ลงทุนในซีดีโอเหล่านี้ต้องขายเงินลงทุนในตลาด
อื่นๆ เช่นตลาดหุ้นไทย เพื่อหาเงินไป “โปะ” ผลขาดทุนจาก CDO และในเมื่อ นักลงทุนเหล่านี้
จำนวนมากเป็นสถาบันการเงินตัวกลางเสียเอง ก็ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดสินเชื่อตกวูบ
เพราะในกรณีอย่างนี้นักลงทุนรายอื่นๆ ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสถาบันการเงินเหล่านี้จะขาดทุน
จากธุรกรรมดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ความไม่มั่นใจนี้ส่งผลให้นักลงทุนกล้าเสี่ยงน้อยกว่าเดิม
เลือกเก็บเงินไว้กับตัว (หรือในบัญชีเงินฝากธนาคาร) สบายใจกว่า ทำให้สภาพคล่องในระบบ
ลดลง อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นพุ่งสูงขึ้น เกิดเป็นภาวะที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “เงินกู้
ฝืด” (credit crunch) ทำความลำบากให้กับบริษัทและบุคคลธรรมดาที่ต้องการใช้เงินกู้โดย
สุจริต เช่น เพื่อขยายธุรกิจ ผ่อนบ้าน ส่งลูกเรียนสูงๆ ฯลฯ



ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์การเงินที่ติดตามพฤติกรรมของผู้จัดการกองทุนควบคู่ไปกับนวัตกรรม
ทางการเงินใหม่ๆ ผู้เขียนคิดว่ามีน้อยคนที่มีความคิดแหลมคมและมีวิสัยทัศน์ดีเท่ากับ รากุราม
ราจัน (Raghuram Rajan) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชิคาโก ผู้เขียนบทความชิ้นเอกเรื่อง
“พัฒนาการด้านการเงินทำให้โลกเสี่ยงกว่าเดิมหรือไม่ ?” (Has Financial Development
Made the World Riskier ?) ในปี พ.ศ.2548 ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย
ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในบทความชิ้นนี้ซึ่งตีพิมพ์ก่อนเกิดปัญหาซีดี
โอนานนับปี ราจันชี้ให้เราเห็นความเสี่ยงของระบบการเงินโลกที่มีรากมาจากแรงจูงใจของ
สถาบันการเงินตัวกลางที่ไม่ตรงกับความต้องการของเจ้าของเงินที่พวกเขาเก็บรักษาให้หรือลง
ทุนแทน ทำให้ธนาคาร “เคยตัว” กว่าเดิมจนปล่อยกู้แบบ “หละหลวม” มากขึ้น ส่วนด้านผู้
จัดการกองทุนเองก็มีแรงจูงใจที่จะแบกรับเสี่ยงมากกว่าเดิมเพื่อตามล่าหาผลตอบแทนสูงๆ ให้
กับเจ้าของเงิน ในภาวะที่ระบบการเงินโลกมีสภาพคล่องสูงมาก (ซึ่งถ้าอธิบายแบบภาษาชาว
บ้านก็คงแปลได้ว่า เป็นภาวะที่คนมี “เงิน” มากกว่ามี “ของ” ให้ซื้อ ก็เลยต้องไปซื้อ “กระดาษ”
ที่ไม่ใช่ “ของ” จริงๆ เช่น ตราสารอนุพันธ์ที่มีมูลค่าอ้างอิงกับมูลค่าที่ดิน)


เนื่องจากบทความของราจันช่วยให้เราเข้าใจลักษณะของระบบการเงินโลกที่ “เปราะบาง” กว่า
ที่เราคาดคิด และทำให้เข้าใจพฤติกรรมของสถาบันการเงินตัวกลางสมัยใหม่ที่ “เสี่ยง” กว่าที่
เราคาดหวัง ผู้เขียนจึงขอแปลและเรียบเรียงบางตอนจากบทความของราจันลงคอลัมน์ในวันนี้

......


ที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงหลายประการช่วยพลิกโฉมหน้าของโลกการเงิน และทำให้ตลาด
การเงินมีทั้งความลึกและความกว้างมากขึ้นกว่าเดิม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นโยบายเปิด
เสรีทางการเงิน และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสถาบันที่ก่อให้เกิดสถาบันการเงินใหม่ๆ
เช่น กองทุนร่วมลงทุน (private equity) และกองทุนเก็งกำไรระยะสั้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์มี
บทบาทน้อยลงในฐานะผู้จัดสรรทุน จนทำให้หลายคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “การปลดล็อก
สถาบันตัวกลาง” (disintermediation) แต่ชื่อนี้ไม่ค่อยถูกต้องทีเดียวนัก เพราะถึงแม้ว่าคน
จำนวนมากจะไม่เก็บเงินส่วนใหญ่ไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคารอีกต่อไป พวกเขาก็ยังลงทุนทาง
อ้อมในตลาดทุนผ่านกองทุนรวม บริษัทประกัน และกองทุนบำนาญ และลงทุนทางอ้อมใน
บริษัทเอกชนผ่านกองทุนเก็งกำไรระยะสั้น กองทุนร่วมลงทุน และกองทุนประเภทอื่นๆ ผู้จัดการ
สถาบันการเงินเหล่านี้ ซึ่งรวมกันเรียกว่า “ผู้จัดการการลงทุน” ได้เข้ามาแทนที่ธนาคารพาณิชย์
กลายเป็นสถาบันตัวกลางประเภทใหม่ที่คั่นกลางระหว่างบุคคลธรรมดากับตลาด




ในขณะเดียวกัน นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ช่วย
ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถ “ขาย” ความเสี่ยงส่วนใหญ่ที่ติดมากับผลิตภัณฑ์สินเชื่อ “พื้นฐาน”
ทั้งหลายของพวกเขาออกไปนอกงบดุลได้ (เช่น ด้วยการแปลงสินเชื่อบ้านเป็นหลักทรัพย์เพื่อ
ขายต่อให้กับนักลงทุน) ทำให้ได้เงินสดและบันทึกกำไรจากการขายได้ทันที ประโยชน์ข้อนี้ทำ
ให้ธนาคารพาณิชย์นิยมทำธุรกรรมนี้กันอย่างกว้างขวาง แต่อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารยังต้อง
แบกก้อนที่เป็น “ความเสี่ยงสูงสุด” ของสินเชื่อซึ่งเป็นส่วนที่นักลงทุนไม่ต้องการไว้ในงบดุล ทำ
ให้สินทรัพย์ความเสี่ยงสูงและสภาพคล่องต่ำของธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น
มาก เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ


ในอดีต ค่าตอบแทนของผู้จัดการธนาคาร (สถาบันการเงินตัว
กลางแบบดั้งเดิม) อยู่ในรูป เงินเดือนเป็นหลัก ผู้ถือหุ้น
ธนาคารไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะเสนอค่าตอบแทนสูงลิบลิ่ว
ให้กับผู้จัดการ เพราะการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของภาครัฐ
ทำให้การแข่งขันระหว่างธนาคารในสมัยนั้นไม่ค่อยรุนแรง และการเสนอค่าตอบแทนสูงๆ ก็อาจ
บิดเบือนแรงจูงใจของผู้จัดการให้วิ่งเข้าหาความเสี่ยงมากกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้โครงสร้าง
เงินทุนของธนาคารที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาพตลาดและความเชื่อมั่นของประชาชน (เช่น ถ้า
ประชาชนขาดความมั่นใจในธนาคาร จนแห่ถอนเงินฝาก ธนาคารก็จะประสบปัญหาขาดสภาพ
คล่องอย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่า bank run) เปรียบเสมือนกลไกควบคุมผู้จัดการไม่ให้เสี่ยงมาก
เกินไป ทั้งหมดนี้แปลว่าผู้จัดการธนาคารมีแรงจูงใจที่จะทำงานแบบอนุรักษนิยมค่อนข้างมาก ผู้
ฝากเงินก็สบายใจที่ธนาคารไม่เอาเงินฝากไปเสี่ยง ผู้ถือหุ้นธนาคารก็ไม่เดือดร้อนเพราะธนาคาร
จ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ ในภาวะที่การแข่งขันยังไม่รุนแรงมาก ธนาคารมีบทบาทสูงในการจัด
สรรทุน ไม่ต้องแย่งลูกค้ากับตลาดทุนและตลาดเงินดังเช่นในปัจจุบัน

แต่ในโลกการเงินสมัยใหม่ ผู้จัดการการลงทุน (สถาบันการเงินตัวกลางแบบใหม่) ไม่สามารถ
รับเงินเดือนแบบ “น้อยแต่มั่นคง” เหมือนผู้จัดการธนาคารได้ เพราะพวกเขามีหน้าที่แสวงหา
แหล่งลงทุนที่ได้กำไรสูงสุดสำหรับเจ้าของเงิน ทำให้ต้อง “ผูก” ค่าตอบแทนของพวกเขาเข้า
กับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ทำได้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง (คือกองทุน
รายอื่นๆ) แรงจูงใจดังกล่าว ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าของเงินสามารถโยกย้ายเงินลงทุน
ไปให้กองทุนรายอื่นบริหารแทนได้อย่างง่ายดาย ทำให้อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุน (เจ้าของ
เงิน) ได้รับ ยิ่งเกี่ยวโยงกับระดับค่าตอบแทนของผู้จัดการการลงทุนมากขึ้นไปอีก


ลักษณะแรงจูงใจของผู้จัดการการลงทุนแตกต่างจากแรงจูงใจของผู้จัดการธนาคารใน 2
ประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นแรก เนื่องจาก ผู้จัดการการลงทุนจะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าเดิมถ้า
ทำกำไรได้สูงๆ ผู้จัดการการลงทุนจึงมีแรงจูงใจที่จะเสี่ยงมากกว่าปกติ (เพราะหลักการพื้นฐาน
ในโลกการเงินคือ ยิ่งเสี่ยงมาก ยิ่งมีแนวโน้มจะได้กำไรมาก) ประเด็นที่ 2 ผลการดำเนินงานเชิง
เปรียบเทียบของผู้จัดการการลงทุน (คือเปรียบเทียบกับผลงานของกองทุนอื่นๆ) เป็นปัจจัย
สำคัญที่ถูกใช้เป็นเกณฑ์กำหนดค่าตอบแทนของผู้จัดการการลงทุน ดังนั้นจึงอาจทำให้พวกเขา
มีแรงจูงใจที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม เช่น ลงทุนในหลักทรัพย์ที่อาจประสบผลขาดทุนร้าย
แรง แต่ความเป็นไปได้ (probability) ของกรณีร้ายแรงนั้นอยู่ในระดับต่ำ (ในสายตาของผู้
จัดการการลงทุน) ในขณะที่หลักทรัพย์นั้นให้อัตราผลตอบแทนงามๆ ในกรณีส่วนใหญ่ที่มีแนว
โน้มว่าจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า นอกจากนี้ ผู้จัดการการลงทุนจำนวนมากก็เลือกลงทุนแบบ “แห่
ตาม” (herd mentality) คู่แข่ง ซึ่งเปรียบเสมือนการ “ซื้อประกัน” ว่าผลการดำเนินงานของพวก
เขาอย่างน้อยจะไม่ด้อยไปกว่าคู่แข่ง (เพราะถ้าด้อยกว่าก็หมายความว่าจะได้รับค่าตอบแทน
ส่วนตัวน้อยลง) พฤติกรรมลงทุนแบบ “แห่ตามกัน” แบบนี้อาจทำให้ราคาสินทรัพย์ที่ไปลงทุน
ปรับตัวสูงขึ้นกว่ามูลค่าที่แท้จริง (fundamental value) ค่อนข้างมากและอย่างรวดเร็ว

พฤติกรรมทั้ง 2 ประเภทของผู้จัดการการลงทุน (เสี่ยงมากกว่าปกติ และลงทุนแบบแห่ตาม)
อาจส่งผลกระตุ้นซึ่งกันและกันในช่วงที่ราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น (asset price boom) ซึ่งเป็น
ภาวะที่ผู้จัดการการลงทุนจำนวนมากรู้สึกว่าพวกเขา “รับได้” กับความเสี่ยงผลกระทบสูงที่มี
ความเป็นไปได้ต่ำ (low probability “tail” risk) ว่า ราคาสินทรัพย์อาจตกวูบลงสู่ระดับที่
สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงได้อย่างเฉียบพลัน และการที่พวกเขาเห็นคู่แข่งจำนวนมากลงทุนใน
สินทรัพย์ประเภทเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้รู้สึกอุ่นใจว่าอย่างน้อยผลดำเนินงานของพวกเขาก็คงไม่
ย่ำแย่ไปกว่า คู่แข่ง (underperform) ในช่วงที่ภาวะตลาดขาขึ้นกลับกลายเป็นขาลง


แรงจูงใจทำนองนี้ของผู้จัดการการลงทุนจะพุ่งสูงกว่าเดิมในภาวะดอกเบี้ยต่ำ เพราะ
สถานการณ์แบบนั้นทำให้พวกเขายิ่งต้อง “วิ่งหาผลตอบแทน” สูงๆ ในตลาด และก็สามารถกู้
เงินไป “ต่อยอด” กำไรได้ด้วยต้นทุนต่ำ แปลว่าสถานการณ์แบบนี้ยิ่งเอื้อต่อการเกิดภาวะ “ฟอง
สบู่” (ราคาสินทรัพย์พุ่งสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงหลายเท่า) มากกว่าเดิม


ประเด็นที่น่าขบคิดคือ ในโลกแบบนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายจะสามารถทำหน้าที่เป็น “ผู้มอบ
สภาพคล่อง” ให้กับระบบการเงินอย่างเพียงพอได้หรือไม่ ในกรณีที่ความเสี่ยงผลกระทบสูงที่มี
ความเป็นไปได้ต่ำ (“tail” risk) นั้นเกิดปะทุขึ้นมาจริงๆ เพราะธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันได้ “ยก
ความเสี่ยง” บางส่วนออกไปนอกงบดุลของตัวเองด้วยการใช้นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ดังที่
ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาสภาพคล่องในตลาดเสียเองเพื่อป้องกันหรือ
กำจัดความเสี่ยง (hedge) จากนวัตกรรมเหล่านั้นให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แปลว่างบดุล
ของธนาคารมีความอ่อนไหวต่อตลาดมาก ซึ่งหมายความว่า ในช่วงวิกฤตที่สภาพคล่องใน
ตลาดเหือดหาย ธนาคารพาณิชย์อาจไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้มอบสภาพคล่องได้อย่างที่เคย
ในอดีต เพราะเป็นผู้ต้องการสภาพคล่องไม่ต่างจากนักลงทุนรายอื่นๆ (นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่
ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องแทรกแซงตลาดยามวิกฤต ในฐานะผู้มอบสภาพคล่องขั้นสุดท้าย
(liquidity provider of last resort) ให้กับระบบการเงิน)


สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้หมายความว่า ถึงแม้ว่าระบบการเงินปัจจุบันจะมีจำนวนผู้เล่นมากกว่าเดิม
ที่สามารถรองรับความเสี่ยงได้ ความเสี่ยงโดยรวมของระบบกลับอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีต ตาม
ทฤษฎีการเงิน ผู้เล่นในตลาดควรมีความหลากหลายทั้งด้านความเห็น (เช่น ระดับความเสี่ยงที่
“รับได้”) และการกระทำ ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมของระบบถูก “กระจาย” อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ในความเป็นจริง การแข่งขันระหว่างผู้จัดการการลงทุนและรูปแบบค่าตอบแทนที่อธิบายไป
แล้วข้างต้น ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้จัดการการลงทุนมีความคล้ายคลึงกันมากกว่าที่ทฤษฎี
พยากรณ์ไว้ ระบบการเงินอิงกับวัฏจักรธุรกิจ (procyclicality) มากกว่าในอดีต และทำให้เราไม่
สามารถกำจัดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการเงินขึ้นรุนแรงได้ทั้งหมด (ถึงแม้ว่าความเป็นไปได้
ของกรณีนั้นอาจมีระดับต่ำมาก)



ราจันเสนอว่า วิธีหนึ่งที่ผู้กำกับดูแลภาครัฐควรใช้เพื่อลดระดับการบิดเบือนแรงจูงใจของผู้
จัดการการลงทุน เพื่อพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาให้เป็นไปในทางที่สอดคล้อง
กับประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น (ความเสี่ยงของระบบการเงินลดลง) คือให้ภาครัฐเริ่มกำกับดูแลวิธี
การจ่ายค่าตอบแทนของผู้จัดการการลงทุน (compensation regulation) เช่น บังคับให้ค่า
ตอบแทนส่วนหนึ่งของพวกเขาอยู่ในรูปหุ้นของสถาบันที่พวกเขาทำงานให้ แล้วเก็บเงินนั้นไว้
ในบัญชีธนาคาร (escrow account) และจ่ายให้ผู้จัดการการลงทุนหลังจากเวลาผ่านไป 3-4 ปี
เพื่อพยายามกระตุ้นให้พวกเขาลงทุนแบบ “สายตายาว” มากกว่าเดิม ไม่ใช่พยายามวิ่งหาผล
ตอบแทนระยะสั้นด้วยการ “แห่ลงทุน” ในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นหลัก

ในเมื่อระบบการเงินโลกมีความเสี่ยงสูงขนาดนี้ดังที่ราจันชี้ให้เราเห็น คำถามที่น่าคิดต่อไปคือ
ทางออกจากภาวะล่อแหลมต่างๆ ในปัจจุบัน ที่อาจนำไปสู่วิกฤตทางการเงินระดับโลกรอบใหม่
เช่นปัญหาขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลของสหรัฐอเมริกา และความลักลั่นระหว่างตลาดทุนกับ
ภาคเศรษฐกิจจริงในประเทศกำลังพัฒนามากมายที่ต้องพึ่งพา “เงินร้อน” ที่เคลื่อนไหวข้าม
พรมแดนในชั่วพริบตา ?



หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 กันยายน 2550

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เกษตรกรสวนยาง ทาสในเรือนเบี้ยในระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์


ประชาไท 12 ก.พ. 51 - การส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวของรัฐบาล กรณียางพาราที่ปลูกกัน
มานานแล้วในภาคใต้ ยังคงเดินหน้าควบคู่ไปกับปัญหาความไม่ลงรอยกับเกษตรกรรายเล็กเสมอ
ป่าอุทยานนั้นเพิ่งจะมาประกาศทับที่ดินทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านทีหลัง

เหตุการณ์รูปธรรมที่เกิดขึ้นกับนายประพันธ์ ทองไทย เกษตรกรรายย่อยคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใน
พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นเขตอุทยานเขาปู่-เขาย่า จ.ตรัง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึง
ความซับซ้อนของปัญหาที่ยังดำรงอยู่ นอกเหนือไปจากเรื่องการบุกรุกป่า แต่มีนัยยะสำคัญสะท้อนถึงแนวคิดในการพัฒนาประเทศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดสรรที่ดินทำกิน ที่เชื่อมต่อกับระบบทุนโลก ที่ชาวบ้านยังไม่เคยมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางเหมือนเดิม จนน่ากลัวว่าในอนาคตที่ดินจะหลุดไปอยู่ในมือทุนจนหมดเกลี้ยง

ข้อหาเดิมๆ ชาวบ้านบุกรุกป่าอีกแล้วข้อมูลจากการเก็บบันทึกโดยเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2550 ระบุว่า นายประพันธ์ ทองไทย ชาวบ้านเขาไพร หมู่ที่ 3 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง มีที่ดินทำกิน 1 แปลง เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา เป็นสวนยางพาราพันธุ์ดี มีสิทธิทำกิน คือ ภ.บ.ท. 5 ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ส่งมอบสืบต่อกันมาหลายชั่วคน

แต่ต่อมาได้เกิดกรณีปัญหาข้อพิพาทกับอุทยาน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2546 โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้เข้ามาตรวจยึดแปลงยางพาราของนายประพันธ์ หลังจากนั้นจึงแจ้งความดำเนินคดีต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอ (สภ.อ.) รัษฎา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 ผลการดำเนินคดีปรากฏว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องนายประพันธ์ และส่งหนังสือระบุไม่สั่งฟ้อง ถึง สภ.อ.รัษฎา ลงวันที่ 8 กันยายน 2549 โดย สภ.อ.รัษฎา ส่งหนังสือรายงานคดีนายประพันธ์ ไปยังหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2549

เหตุที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากวินิจฉัยแล้วเห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีการครอบครองทำประโยชน์มากว่า 40 ปี และมีการโอนต่อๆ กันมาหลายทอดจนถึงมือผู้ต้องหานี้ ผู้ที่ครอบครองมาก่อนเคยเสียภาษีที่ดินแล้ว ผู้ต้องหารับโอนมาในสภาพที่มีสวนยางพารา ไม่มีร่องรอยป่าหลงเหลือ ต่อมาได้โค่นต้นยางพาราเพื่อเตรียมปลูกยางพาราใหม่ ที่ดินใกล้เคียงติดกันรอบด้านก็เป็นสวนยางพารา ผู้ต้องหาไม่ทราบว่าที่เกิดเหตุเป็นอุทยาน จึงขาดเจตนาในการกระทำผิดจึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง...

แต่ปรากฎว่าหลังจากนั้น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่ากลับไม่สนใจคำสั่งของอัยการ กลับเดินหน้าแจ้งผลการดำเนินคดี ถึงนายประพันธ์ ลงวันที่ 13 มกราคม 2549 และระบุให้ออกไปจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ด้วยข้อหายึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงห้ามก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า เก็บหา นำออกไป หรือทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพฯ

นายประพันธ์ กล่าวว่า แม้ว่าต่อมาอัยการจะสั่งไม่ฟ้องแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ในสวนยางพาราของตัวเองได้เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานบอกว่าหากดำเนินการใดๆ จะจับกุมทันที เพราะถือว่าเป็นการบุกรุกป่า โดยที่กรมอุทยานไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งศาล สามารถสั่งโค่น รื้อถอนยางพาราของชาวบ้านได้เลย โดยใช้กฎหมายอุทยานและกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง

“ต้องการบอกให้ภาครัฐรู้ว่าคนอยู่ที่นี่ไม่ผิด เรามีสิทธิ์ทำกินในแผ่นดินเดิม ซึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2546 เราจัดตั้งกลุ่มเยาวชนเพื่อดูแลรักษาพื้นที่ป่าดั้งเดิม และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำมาตลอด แต่ขณะเดียวกันที่ดินทำกินก็ต้องให้เราทำกินได้ต่อไป เราไม่ได้ต้องการเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินอะไร แต่อยากให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานราชการหยุดเข้ามาคุกคาม และดำเนินคดีกับชาวบ้าน” นายประพันธ์ กล่าว

นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า กฎหมายป่าไม้ 2484 ระบุว่า ที่ดินใดก็ตามที่ไม่มีเอกสารสิทธิถือว่าเป็นป่าไม้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงถือว่าเป็นที่ของรัฐทั้งหมด เพราะฉะนั้นใครที่ไม่ได้เอกสารสิทธิ จึงถือเป็นการ “ถูกยึด” โดยรัฐทั้งหมด ในขณะที่ คนจะต้องทำกินในที่ดินจึงจะได้เอกสารสิทธิ แต่ถ้าไม่มีการทำกิน รัฐจะถือเป็นของรัฐทันที เพราะฉะนั้น ระบบคิดนี้คือการเชื่อว่า ระบบการผลิตมีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม มีการจำกัดการถือครองในที่ดิน หรือการมีสิทธิในที่ดิน มีสองแบบ คือ 1.รัฐเป็นเจ้าของ 2.ประชาชนต้องมีเอกสารสิทธิ ดังนั้น เป็นผลทำให้ที่ดินหลายๆ ส่วนซึ่งมีปัญหาไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ที่ดินบางส่วนแม้ว่าจะเป็นที่ของส่วนรวม ก็กลายมาเป็นโฉนดของส่วนตัว

ถือครองที่ดิน ไม่จำกัด : ประเคนต้นทุนการผลิตให้ทุนใหญ่ขณะที่ปัญหาบุกรุกป่ายังดำเนินควบคู่ไปกับการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจของรัฐ ที่มักลงเอยด้วยการเอาผิดกับชาวบ้านหลายที่ถือว่า ‘เป็นคนเดิม’ ทำกินอยู่ในที่ดินเดิมก่อนประกาศเขตอุทยาน แต่กลุ่มใหม่ที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่อุทยานอย่างจงใจ กลับหลุดรอดจากกรอบกฎหมายเดียวกันนั้นได้ด้วยการสนับสนุนค่าต๋งให้กับเจ้าหน้าที่บางจำพวก

นางศยามล ไกรยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) กล่าวว่า ตนคิดว่าหากพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องป่าไม้ ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยากที่จะมีการแก้กฎหมายให้ประชาชนได้ร่วมทำกิน หรือได้ร่วมดูแลป่าในอุทยาน กล่าวคือ เป็นการยากทั้งในเชิงของสังคมไทยที่ยังมีภาพของการบุกรุกป่า เช่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เทือกเขาบรรทัดที่อยู่กันมานานหลายชั่วอายุคน ในบริเวณรอยต่อของ อ.ห้วยยอด กับ จ.พัทลุง มีการบุกรุกป่ากันเยอะ ซึ่งชาวพัทลุงก็ต้องไปตรวจสอบว่าเป็นคนกลุ่มไหนที่เข้าไปบุกรุก ภาพแบบนี้เองที่ทำให้คนทั่วไปคิดว่าถ้าให้ประชาชนจัดการป่ากันเอง จะมีความสุ่มเสี่ยงที่ป่าจะถูกบุกรุกได้ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวบ้านจะต้องพิสูจน์ และทำให้คนเปลี่ยนความคิดใหม่เพื่อให้เชื่อว่าชาวบ้านก็ดูแลป่าเองได้

นางศยามล กล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังปล่อยให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน และออกโฉนดที่ดินเพื่อให้มีการขายอย่างเสรี เมื่อที่ดินกลายเป็นของส่วนบุคคล ข้อเสียก็คือ ก็เป็นปัญหาเพราะคนจะขาย โดยเฉพาะเกษตรกร ที่รัฐบาลไม่อุดหนุนสินค้าในภาคเกษตรอย่างจริงจัง มีโอกาสที่ชาวบ้านจะขายที่ดินเพราะเป็นหนี้สินได้ง่ายๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเราดูได้จากภาคกลาง ภาคตะวันออก ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มผู้มีอิทธิพลและนักการเมืองแทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังไม่เคยมีมาตรการป้องกันการกว้านซื้อที่ดิน หรือควบคุมไม่ให้มีการครอบครองที่ดินจำนวนมาก เพราะฉะนั้นปัญหาเกษตรการขายที่ดินเมื่อเป็นหนี้สินเกิดขึ้นแน่ ในขณะเดียวกัน หากพูดแบบตรงไปตรงมาก็คือ ฝ่ายอนุรักษ์ป่ายังกลัวและกังวลว่า หากกันที่ดินออกจากอุทยานเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน ก็มีแนวโน้มที่ชาวบ้านจะขายที่ดิน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความมั่นคงของที่ดินก็คงไม่ได้อยู่ที่การมีโฉนด แต่หากไม่มีโฉนด จะมีวิธีการอย่างไรให้ที่ดินที่มั่นคง

“การมีโฉนดที่ดินเป็นกลยุทธ์ของระบบทุนนิยม เพราะว่าเมื่อระบบทุนนิยมบอกว่าให้สามารถเอาที่ดินไปจำนอง เพื่อกู้หนี้ยืมสินได้ นั่นแสดงว่ากำลังจะปล่อยให้ที่ดินไปอยู่ในตลาดการซื้อขายอย่างเสรี เรื่องนี้ได้ทำให้เกษตรกรจำนวนมากสูญเสียที่ดินมาแล้ว ฉะนั้นเมื่อระบบแบบนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในที่ดินเราก็ต้องมาคิดกันใหม่ ว่าเราจะสร้างความมั่นคงให้ที่ดินของเราได้อย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่อยากจะชวนให้คิด” นางศยามล กล่าว

นางศยามล กล่าวต่อว่า เกษตรกรไทยในอนาคตมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนยางพารา หรือแม้แต่ชาวสวนยางพารา ที่กำลังจะเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมัน ก็มีโอกาสสูญพันธุ์ เช่นกัน ด้วยระบบที่เราเอากลไกตลาดไปขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศ ที่ขายยางพารา ให้กับตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันยางพาราจะให้ราคาสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตราคายางพาราจะไม่ราคาถูกลง เพราะว่าตอนนี้จีน และเวียดนาม ต่างขยายพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวนมาก ฉะนั้นคาดว่าประมาณ 5-6 ปี ประเทศเหล่านี้จะสามารถกรีดน้ำยางขายได้ เมื่อปริมาณยางมีมากในจำนวนตลาดยางทั้งโลกมีมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ซื้อ ยางก็จะราคาตก ทั้งหมดนี้มีการผันผวนของราคายางตลอด จึงไม่ได้หมายความว่า การปลูกยางพาราจะมีความมั่นคง เพราะว่าเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาเองได้

“เป็นอันหนึ่งที่เราต้องกลับไปคิดว่า เราจะอยู่ได้อย่างไรกับที่ดินที่เรามีอยู่ แล้วเราจะทำการเกษตรแบบไหนที่เราจะมั่นคงในอนาคต และความผันผวนของเรื่องนี้จะมีสูง และเราก็หนีไม่พ้น มันหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเราทำการค้าเสรีกับหลายประเทศ เช่น จีน เวียดนาม ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฉะนั้นมีหลายเรื่องที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจเมื่อเจรจากับประเทศอื่นๆ ว่าจะเข้าข้างใคร เช่น รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นจะรักษาสิทธิของเกษตรกรของเค้า ไม่เหมือนประเทศไทยที่ไม่ค่อยรักษาสิทธิของเกษตรกร ไม่ค่อยปกป้องสิทธิของเกษตรกร ก็มักจะทุ่มทุนในญี่ปุ่นได้ประโยชน์มากกว่าในแง่ของการต่อรองเรื่องราคาพืชผล และสิ้นค้าเกษตร อันนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เราต้องคิด” นางศยามล กล่าว


ทางรอด จัดระบบที่ดินให้ยั่งยืน

นางศยามล กล่าวว่า ตนคิดว่าการจัดการที่ดินไม่ได้พูดถึงแค่ตัวที่ดิน แต่ยังรวมไปถึงระบบการผลิตเกษตรกรต้องคิด ซึ่งในบริบทของเกษตรกรทางภาคใต้ มีภูมิปัญญาในการจัดการที่ดินอยู่แล้ว แต่จะให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างไร เพราะเกษตรกรบางคนอาจกำลังประสบปัญหาหนี้สิน ถ้าปล่อยให้เขาต่อสู้โดยลำพัง ต่อให้เขาเปลี่ยนจากระบบการผลิตแบบสวนยางมาเป็นระบบการปลุกแบบผสมผสานสวนสมรวม ก็อยู่ไปไม่ได้เพราะเขาเป็นหนี้สิน เพราะฉะนั้นเวลาคิดเรื่องที่ดินเราต้องคิดเรื่องทุนด้วย กล่าวคือ ทำอย่างไรเพื่อให้มีเงินทุนของกลุ่มประชาชนชาวเกษตรกรเอง ที่จะนำไปช่วยเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินในระดับบุคคล เพราะการมองอย่างเดียวว่าทุกคนต้องเปลี่ยนระบบการผลิต มันไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

“เกษตรกรต้องมีอาหารที่มั่นคงด้วย ไม่ใช่ว่าทุกอย่างซื้อหมด ดังนั้น การจะให้คนเปลี่ยนจากระบบการผลิตยางพาราตามแนวทางที่รัฐส่งเสริมซึ่งเป็นสวนพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นลักษณะสวนผสมผสานในขณะที่ยังต้องการปลูกยางพาราเพื่อให้มีรายได้ส่งลูกเรียน และเลี้ยงชีพด้านอื่นๆ ก็จำเป็นต้องแก้ปัญหาหนี้สินก่อน ซึ่งคิดว่าทางออกที่ดีที่สุด คือ การมีทุนของเราเองดีกว่าไปกู้ยืมเงินจากธนาคาร ฉะนั้นการเกิดขึ้นของกลุ่มออมทรัพย์ภาคใต้ในหลายพื้นที่เป็นสิ่งที่ดี” นางศยามล กล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ของกลุ่มตนเอง มีทุนของกลุ่ม มีสวัสดิการของกลุ่ม ก็จะทำให้กลุ่มเกษตรกรมั่นคง ยั่งยืนได้ในอนาคต ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับการควบคุมไม่ให้มีการซื้อขายที่ดินมือเปล่า เพราะที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่ก็มีการซื้อขายที่ดิน

“ต่อไปเกษตรกรไม่เพียงต้องสู้กับระบบการผลิต ยังมีเรื่องการควบคุมการใช้น้ำ ที่กำลังจะเกิด ดังนั้น การที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจของโลก เหมือนการผลิตยางพาราพึ่งพากับระบบตลาดโลกอย่างเดียวเช่นทุกวันนี้ จะไปไม่รอดแน่นอน เพราะเกษตรกรมีโอกาสจะขายที่ดินแบบมือเปล่าเมื่อเกิดภาวะยางราคายางพาราตกต่ำ และลูกหลานจะไม่มีโอกาสได้ที่ดินทำกิน แต่ถ้าหากจัดการที่ดิน และระบบการผลิตได้สำเร็จ จะเป็นประโยชน์กับลูกหลาน แม้ว่าจะใช้เวลาเป็นหลายสิบปีก็ตาม” นางศยามล กล่าวทิ้งท้าย

ถึงวันนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าจะโทษใครดีที่เป็นต้นเหตุของปัญหาบุกรุกป่า เพราะด้านหนึ่งรัฐก็เป็นคนส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจยางพาราเสียเอง ส่วนอีกด้านหนึ่ง การจัดการโดยรัฐก็ทำให้ชาวบ้านขยับตัวไม่ได้ เมื่อจู่ๆ วันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐเดินเข้ามาบอกชาวบ้านว่า ทำกินในเขตอุทยานไม่ได้อีกแล้ว เพราะผิดกฎหมายทั้งๆ ที่พวกเขาอาศัยอยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยาน และปลูกผลอาสินต่างๆ อันรวมไปถึงยางพาราที่หน่วยงานของรัฐ (สกย.) เป็นผู้อนุมัติเอง

แต่ปัญหาที่ยุ่งยากมากกว่านั้นคือ เมื่อการจัดสรรที่ดินทำกินเดินหน้าไปอย่างไม่มีข้อสรุปเรื่องการจำกัดการถือครองที่ชัดเจน วันนี้ประชาชนอีกจำนวนมาก ก็ยังต้องก้มหน้าก้มตาทำงานในที่ดินบรรพบุรุษเสมือนทาสในเรือนเบี้ย

โดย : ประชาไท วันที่ 12/02/2008


ขอคำแนะนำด้วยค่ะ/ครับ

พิ้นหลัง