วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

โลกาภิวัตน์ ความมั่งคั่ง และจริยธรรม

อนุสรณ์ ธรรมใจ .. พลวัตเศรษฐกิจ
ในยุคทศวรรษ 1980 นั้นแข่งกันด้วยคุณภาพ ในศตวรรษที่ 21 ธุรกิจอุตสาหกรรมแข่งกันด้วยความเร็ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้เพิ่มมิติใหม่ๆ ในการแข่งขัน ทั้งมิติของความลึก ความเร็ว และการแผ่ขยายในวงกว้าง
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร ทำให้กระบวนการเร่งตัวของโลกาภิวัตน์เกิดขึ้นชัดเจน โลกาภิวัตน์จึงไม่เป็นเพียงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระดับโลก ซึ่งหมายถึง แนวคิดในเรื่องกาลและเทศะ (Time-Space) โดยทำให้เหตุการณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้สามารถส่งผลต่อส่วนอื่นของโลกโดยรวดเร็วไม่เคยเป็นมาก่อน
ผศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำวิจัยที่น่าสนใจเรื่อง "โลกาภิวัตน์ บรรษัทข้ามชาติ บรรษัทภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรษัท" โดยพยายามจะบอกว่า โลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของคนในโลก ทั้งในด้านการรับรู้และในด้านการกระทำที่มีต่อกันให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันโลกาภิวัตน์ได้ส่งเสริมให้บทบาทของบรรษัทข้ามชาติเกิดขึ้นในสังคมโลก จนสามารถกล่าวว่าบทบาทในด้านจัดการทางเศรษฐกิจของบรรษัทข้ามชาติได้เข้ามาแทนที่บทบาทของรัฐ
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาถึงบทบาทของบรรษัทข้ามชาติภายใต้ความสัมพันธ์กับรัฐ และเสนอว่าภายใต้พลังอำนาจที่เพิ่มขึ้นของบรรษัทข้ามชาติ ควรที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย
หากศึกษาดูบทบาทของบรรษัทข้ามชาติภายใต้ความสัมพันธ์กับรัฐ ก็จะพบทั้งอิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติที่มีต่อรัฐ และรัฐใช้บรรษัทข้ามชาติเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ
ย้อนกลับไปในยุคจักรวรรดินิยมยุโรป บริษัท East India และบริษัท British South Africa ได้อาศัยพลังอำนาจรัฐเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและธุรกิจในเอเชียและแอฟริกา หลายบริษัทก็มีประวัติต่อเนื่องยาวนานและปัจจุบันนี้ก็ยังเปิดดำเนินการอยู่ เช่น Unilever ก็มีวิวัฒนาการมาจากบริษัท Royal Niger ที่ราชสำนักอังกฤษอนุญาตให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้าไปทำการค้าในแถบแอฟริกาตะวันตก ตอนหลังไปควบรวมกิจการกับ บริษัท Lever และบริษัท United Africa
พวกนิยมโลกาภิวัตน์สายเสรีนิยมใหม่มองโลกาภิวัตน์ในด้านบวกอย่างยิ่งว่า โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจช่วยลดปัญหาความยากจน โดยมักอ้างงานศึกษาของธนาคารโลกและงานวิจัยของยูเอ็นดีพี ที่แสดงให้เห็นถึงช่องว่างรายได้สัมพัทธ์ระหว่างประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำกับประเทศอื่นๆลดลง โดยช่องว่างนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 1970 เทียบกับปี 2001 ช่องว่างลดลงจากระดับสูงสุด 88% ของรายได้มาเป็น 78%
ข้อมูลธนาคารโลกยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่เปิดตัวเองจะมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าทั้งประเทศที่รวยและประเทศที่ไม่ได้เข้าอยู่ในโลกาภิวัตน์
ผลก็คือ แทนที่ความไม่เสมอภาคในโลกจะเพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงมาก ทั้งนี้ถ้ามีการวัดจากการกระจายรายได้ส่วนบุคคล เนื่องจากประเทศที่เคยยากจนอย่างอินเดียและจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก มีการเติบโตของรายได้สูง เนื่องจากมีประชากรมากจึงดึงให้ภาพรวมของโลกในเรื่องรายได้เฉลี่ยต่อหัวดีขึ้น ทั้งสองประเทศนี้ไม่ตกขบวนโลกาภิวัตน์
ส่วนพวกที่มองโลกาภิวัตน์แบบที่เป็นอยู่เวลานี้ในแง่ร้ายมีทั้งพวกที่เห็นด้วยกับโลกาภิวัตน์ แต่ต้องการให้เป็นแบบที่ตัวเองต้องการ และพวกต่อต้านไม่เห็นด้วยกับโลกาภิวัตน์ พวกโลกาภิวัตน์นิยมสายมาร์กซิสม์ใหม่มองโลกาภิวัตน์ในเวลานี้ว่า ไปเพิ่มพลังอำนาจให้กับบรรษัท ประเทศและชนชั้นที่ร่ำรวยอยู่แล้วให้ร่ำรวยมากขึ้นไปอีก ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้น มีการผลิตและบริโภคเกินพอดีก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง
นอกจากนี้ยังมีของแถม คือการเก็งกำไรในตลาดเงินตลาดทุนระหว่างประเทศมหาศาลจนสร้างภาวะไร้เสถียรภาพ และมองว่าโลกาภิวัตน์แบบที่เป็นอยู่นี้ทำให้ความมั่งคั่งไปตกอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยและสร้างความไม่เสมอภาค
พวกสนับสนุนโลกาภิวัตน์ก็บอกว่า เศรษฐกิจเสรีจะทำให้คนรวยขึ้นและเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น
ส่วนพวกชุมชนท้องถิ่นนิยมมักวิจารณ์โลกาภิวัตน์ว่าก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เช่น การเปิดดิสเคาท์สโตร์บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ทำให้ธุรกิจรายเล็กรายย่อยในท้องถิ่นล่มสลายและยังทำลายวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม
มองอย่างเป็นกลางแล้ว บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้อาจให้ความร่วมมือกับท้องถิ่นและรัฐในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ภาษีประชาชน การมีแรงกดดันด้านการแข่งขันทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร รวมทั้งคุณภาพของสินค้าและบริการดีขึ้น
ขณะเดียวกันความยากลำบากในการทำธุรกิจของกลุ่มทุนชาติและกลุ่มทุนท้องถิ่นเกิดขึ้นพร้อมกับการแข่งขันจากคู่แข่งที่เหนือกว่าทั้งเครือข่าย เงินทุนและเทคโนโลยี นอกจากนี้แผนงานทางธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติอาจขัดแย้งกับผลประโยชน์แห่งชาติได้ และอาจจะมีการติดสินบนนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อให้บรรลุผลการดำเนินงาน อำนาจของบรรษัทข้ามชาติเติบโตต่อเนื่องพร้อมกับการสะสมความมั่งคั่งภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ อำนาจที่มากขึ้นมากขึ้น จึงต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคม บรรษัทภิบาลและจริยธรรมที่เพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว ความไม่เป็นธรรม ความขัดแย้ง และความรุนแรงย่อมติดตามมาแน่นอน
แม้นอำนาจนั้นจะยิ่งใหญ่สักปานใด ย่อมไม่อาจต้านทานกระแสความไม่พอใจของมวลชนผู้เดือดร้อนได้ครับ
25 ส.ค. 48

โดย : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27/08/2005

ขอคำแนะนำด้วยค่ะ/ครับ

พิ้นหลัง