วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

โศกนาฏกรรมรากหญ้า ในโลกยุคโลกาภิวัตน์



ราคาข้าวในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเกิดจากความต้องการจริง ความตื่นตระหนกหรือการเก็งกำไร แต่ก็ถือว่าเป็น "ปีทอง" ของข้าวไทยที่สามารถขายได้ราคาดีอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาข้าวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เริ่มทำให้เกิดความกังวลว่าจะสิ้นสุดช่วง "นาทีทอง" ของตลาดข้าว และตลาดอาจจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่สภาพที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้แนวโน้มจะเป็นอย่างไรยังมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพราะทุกปัจจัยสามารถมีอิทธิพลต่อราคาในตลาด ความคาดหวังว่าราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการของหลายประเทศที่มีปัญหาเรื่องผลผลิต ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างมองด้วยความหวัง ชาวนาเร่งปลูกข้าวรอบใหม่เพื่อหวังจะขายได้ราคาดี โรงสีก็หวังว่าจะทำกำไรจากแนวโน้มราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาครัฐเองก็หวังว่าหากขายข้าวได้ราคาดี จะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมดีไปด้วย แต่ราคาเริ่มออกอาการ "สะดุด" ในช่วงที่ผ่านมา จากระดับราคาตันละราว 1,000 ดอลลาร์ ลดลงเหลือระดับ 900 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายเริ่ม "ผวา" และบางกลุ่มอาจ "เจ็บตัว" จากการคาดการณ์ล่วงหน้าดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาในขั้นตอนการค้าข้าว โดยเฉพาะบรรดาโรงสีที่พากันเก็งกำไรจากช่วง "นาทีทอง" แต่เมื่อราคาในตลาดผันผวน จึงหันมากดราคารับซื้อจากบรรดาชาวนาที่มีความหวังว่าจะได้ราคาสูง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้า ชาวนาก็คาดหวังว่าอยู่แล้วว่าในช่วง "นาทีทอง" เป็นไปไม่ได้ที่จะขายได้ในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เราจึงเห็นภาพการประท้วงของชาวนาในหลายจังหวัดและเป็นการประท้วงในประเด็นคล้ายกัน นั่นคือ ไม่พอใจการรับซื้อข้างของบรรดาโรงสี และเป็นปกติธรรมดาที่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยดูแลเหมือนทุกครั้ง


อันที่จริง ความวุ่นวายขนาด "ย่อม" ที่เกิดขึ้นกับชาวนาสะท้อนความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย นั่นคือ กระบวนการโลกาภิวัตน์ได้ "ทะลวง" เข้าถึงในระดับรากหญ้าอย่างทั่วถึงและลงลึกกว่าที่หลายคนคาดถึง ซึ่งลำพังแค่การเปลี่ยนแปลงราคาข้าวเพียงแค่วันสองวัน กลับส่งผลกระทบต่อชาวนาได้อย่างรวดเร็ว แต่ภาพที่เราเห็นก็คือคนระดับรากหญ้าของเราไม่อาจประเมินถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ และคาดไม่ถึงว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาอย่างรวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทันเช่นนี้ ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา จึงไม่มีวิธีอื่นนอกจากการรวมตัวเรียกร้องให้ภาครัฐช่วย


อย่าลืมว่า ในช่วงที่ทุกคนเห็นว่าเป็น "นาทีทอง" อยู่นั้น ไม่ใช่จะไม่การกล่าวเตือนกันให้ระมัดระวัง หรือแม้แต่ภาครัฐก็พยายามอย่างยิ่งจะแจ้งเตือนราคาให้ชาวนาได้รับรู้ แต่เมื่อทุกคนอยู่ในภาวะ "ตื่นตระหนก" เสียแล้ว ก็เป็นเรื่องยากจะทำให้เกิดการตัดสินอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดภาวะแสวงหากำรไสูงสุด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าคนระดับรากหญ้า โดยเฉพาะชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไร้ "ภูมิคุ้มกัน" เพียงพอกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในระดับโลก และไม่อาจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้


สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับราคาข้าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคโลกาภิวัตน์เท่านั้น ยังมีความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น ราคาน้ำมัน ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งล้วนแต่กระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนทุกระดับ แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือคนระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ไม่สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงได้ และเชื่อว่าหากคนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งเพียงพอ เราเชื่อว่าในระยะต่อไป คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุดกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจยุคใหม่


เราเห็นว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ยังไม่มีแผนพัฒนาที่ดีพอ โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนของประเทศตัวเอง รัฐบาลทำได้อย่างมากก็เพียงการ "วิ่ง" ตามการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก เราจึงมีแต่ประชาชนที่เต็มไปด้วยความ "อ่อนแอ" ต้องพึ่งพารัฐบาลและนักการเมืองตลอดไป

โดย : กรุงเทพธุรกิจบิสวีค วันที่ 16/05/2008

ขอคำแนะนำด้วยค่ะ/ครับ

พิ้นหลัง