วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เกษตรกรสวนยาง ทาสในเรือนเบี้ยในระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์


ประชาไท 12 ก.พ. 51 - การส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวของรัฐบาล กรณียางพาราที่ปลูกกัน
มานานแล้วในภาคใต้ ยังคงเดินหน้าควบคู่ไปกับปัญหาความไม่ลงรอยกับเกษตรกรรายเล็กเสมอ
ป่าอุทยานนั้นเพิ่งจะมาประกาศทับที่ดินทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านทีหลัง

เหตุการณ์รูปธรรมที่เกิดขึ้นกับนายประพันธ์ ทองไทย เกษตรกรรายย่อยคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใน
พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นเขตอุทยานเขาปู่-เขาย่า จ.ตรัง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึง
ความซับซ้อนของปัญหาที่ยังดำรงอยู่ นอกเหนือไปจากเรื่องการบุกรุกป่า แต่มีนัยยะสำคัญสะท้อนถึงแนวคิดในการพัฒนาประเทศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดสรรที่ดินทำกิน ที่เชื่อมต่อกับระบบทุนโลก ที่ชาวบ้านยังไม่เคยมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางเหมือนเดิม จนน่ากลัวว่าในอนาคตที่ดินจะหลุดไปอยู่ในมือทุนจนหมดเกลี้ยง

ข้อหาเดิมๆ ชาวบ้านบุกรุกป่าอีกแล้วข้อมูลจากการเก็บบันทึกโดยเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2550 ระบุว่า นายประพันธ์ ทองไทย ชาวบ้านเขาไพร หมู่ที่ 3 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง มีที่ดินทำกิน 1 แปลง เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา เป็นสวนยางพาราพันธุ์ดี มีสิทธิทำกิน คือ ภ.บ.ท. 5 ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ส่งมอบสืบต่อกันมาหลายชั่วคน

แต่ต่อมาได้เกิดกรณีปัญหาข้อพิพาทกับอุทยาน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2546 โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้เข้ามาตรวจยึดแปลงยางพาราของนายประพันธ์ หลังจากนั้นจึงแจ้งความดำเนินคดีต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอ (สภ.อ.) รัษฎา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 ผลการดำเนินคดีปรากฏว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องนายประพันธ์ และส่งหนังสือระบุไม่สั่งฟ้อง ถึง สภ.อ.รัษฎา ลงวันที่ 8 กันยายน 2549 โดย สภ.อ.รัษฎา ส่งหนังสือรายงานคดีนายประพันธ์ ไปยังหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2549

เหตุที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากวินิจฉัยแล้วเห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีการครอบครองทำประโยชน์มากว่า 40 ปี และมีการโอนต่อๆ กันมาหลายทอดจนถึงมือผู้ต้องหานี้ ผู้ที่ครอบครองมาก่อนเคยเสียภาษีที่ดินแล้ว ผู้ต้องหารับโอนมาในสภาพที่มีสวนยางพารา ไม่มีร่องรอยป่าหลงเหลือ ต่อมาได้โค่นต้นยางพาราเพื่อเตรียมปลูกยางพาราใหม่ ที่ดินใกล้เคียงติดกันรอบด้านก็เป็นสวนยางพารา ผู้ต้องหาไม่ทราบว่าที่เกิดเหตุเป็นอุทยาน จึงขาดเจตนาในการกระทำผิดจึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง...

แต่ปรากฎว่าหลังจากนั้น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่ากลับไม่สนใจคำสั่งของอัยการ กลับเดินหน้าแจ้งผลการดำเนินคดี ถึงนายประพันธ์ ลงวันที่ 13 มกราคม 2549 และระบุให้ออกไปจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ด้วยข้อหายึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงห้ามก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า เก็บหา นำออกไป หรือทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพฯ

นายประพันธ์ กล่าวว่า แม้ว่าต่อมาอัยการจะสั่งไม่ฟ้องแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ในสวนยางพาราของตัวเองได้เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานบอกว่าหากดำเนินการใดๆ จะจับกุมทันที เพราะถือว่าเป็นการบุกรุกป่า โดยที่กรมอุทยานไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งศาล สามารถสั่งโค่น รื้อถอนยางพาราของชาวบ้านได้เลย โดยใช้กฎหมายอุทยานและกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง

“ต้องการบอกให้ภาครัฐรู้ว่าคนอยู่ที่นี่ไม่ผิด เรามีสิทธิ์ทำกินในแผ่นดินเดิม ซึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2546 เราจัดตั้งกลุ่มเยาวชนเพื่อดูแลรักษาพื้นที่ป่าดั้งเดิม และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำมาตลอด แต่ขณะเดียวกันที่ดินทำกินก็ต้องให้เราทำกินได้ต่อไป เราไม่ได้ต้องการเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินอะไร แต่อยากให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานราชการหยุดเข้ามาคุกคาม และดำเนินคดีกับชาวบ้าน” นายประพันธ์ กล่าว

นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า กฎหมายป่าไม้ 2484 ระบุว่า ที่ดินใดก็ตามที่ไม่มีเอกสารสิทธิถือว่าเป็นป่าไม้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงถือว่าเป็นที่ของรัฐทั้งหมด เพราะฉะนั้นใครที่ไม่ได้เอกสารสิทธิ จึงถือเป็นการ “ถูกยึด” โดยรัฐทั้งหมด ในขณะที่ คนจะต้องทำกินในที่ดินจึงจะได้เอกสารสิทธิ แต่ถ้าไม่มีการทำกิน รัฐจะถือเป็นของรัฐทันที เพราะฉะนั้น ระบบคิดนี้คือการเชื่อว่า ระบบการผลิตมีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม มีการจำกัดการถือครองในที่ดิน หรือการมีสิทธิในที่ดิน มีสองแบบ คือ 1.รัฐเป็นเจ้าของ 2.ประชาชนต้องมีเอกสารสิทธิ ดังนั้น เป็นผลทำให้ที่ดินหลายๆ ส่วนซึ่งมีปัญหาไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ที่ดินบางส่วนแม้ว่าจะเป็นที่ของส่วนรวม ก็กลายมาเป็นโฉนดของส่วนตัว

ถือครองที่ดิน ไม่จำกัด : ประเคนต้นทุนการผลิตให้ทุนใหญ่ขณะที่ปัญหาบุกรุกป่ายังดำเนินควบคู่ไปกับการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจของรัฐ ที่มักลงเอยด้วยการเอาผิดกับชาวบ้านหลายที่ถือว่า ‘เป็นคนเดิม’ ทำกินอยู่ในที่ดินเดิมก่อนประกาศเขตอุทยาน แต่กลุ่มใหม่ที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่อุทยานอย่างจงใจ กลับหลุดรอดจากกรอบกฎหมายเดียวกันนั้นได้ด้วยการสนับสนุนค่าต๋งให้กับเจ้าหน้าที่บางจำพวก

นางศยามล ไกรยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) กล่าวว่า ตนคิดว่าหากพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องป่าไม้ ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยากที่จะมีการแก้กฎหมายให้ประชาชนได้ร่วมทำกิน หรือได้ร่วมดูแลป่าในอุทยาน กล่าวคือ เป็นการยากทั้งในเชิงของสังคมไทยที่ยังมีภาพของการบุกรุกป่า เช่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เทือกเขาบรรทัดที่อยู่กันมานานหลายชั่วอายุคน ในบริเวณรอยต่อของ อ.ห้วยยอด กับ จ.พัทลุง มีการบุกรุกป่ากันเยอะ ซึ่งชาวพัทลุงก็ต้องไปตรวจสอบว่าเป็นคนกลุ่มไหนที่เข้าไปบุกรุก ภาพแบบนี้เองที่ทำให้คนทั่วไปคิดว่าถ้าให้ประชาชนจัดการป่ากันเอง จะมีความสุ่มเสี่ยงที่ป่าจะถูกบุกรุกได้ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวบ้านจะต้องพิสูจน์ และทำให้คนเปลี่ยนความคิดใหม่เพื่อให้เชื่อว่าชาวบ้านก็ดูแลป่าเองได้

นางศยามล กล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังปล่อยให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน และออกโฉนดที่ดินเพื่อให้มีการขายอย่างเสรี เมื่อที่ดินกลายเป็นของส่วนบุคคล ข้อเสียก็คือ ก็เป็นปัญหาเพราะคนจะขาย โดยเฉพาะเกษตรกร ที่รัฐบาลไม่อุดหนุนสินค้าในภาคเกษตรอย่างจริงจัง มีโอกาสที่ชาวบ้านจะขายที่ดินเพราะเป็นหนี้สินได้ง่ายๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเราดูได้จากภาคกลาง ภาคตะวันออก ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มผู้มีอิทธิพลและนักการเมืองแทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังไม่เคยมีมาตรการป้องกันการกว้านซื้อที่ดิน หรือควบคุมไม่ให้มีการครอบครองที่ดินจำนวนมาก เพราะฉะนั้นปัญหาเกษตรการขายที่ดินเมื่อเป็นหนี้สินเกิดขึ้นแน่ ในขณะเดียวกัน หากพูดแบบตรงไปตรงมาก็คือ ฝ่ายอนุรักษ์ป่ายังกลัวและกังวลว่า หากกันที่ดินออกจากอุทยานเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน ก็มีแนวโน้มที่ชาวบ้านจะขายที่ดิน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความมั่นคงของที่ดินก็คงไม่ได้อยู่ที่การมีโฉนด แต่หากไม่มีโฉนด จะมีวิธีการอย่างไรให้ที่ดินที่มั่นคง

“การมีโฉนดที่ดินเป็นกลยุทธ์ของระบบทุนนิยม เพราะว่าเมื่อระบบทุนนิยมบอกว่าให้สามารถเอาที่ดินไปจำนอง เพื่อกู้หนี้ยืมสินได้ นั่นแสดงว่ากำลังจะปล่อยให้ที่ดินไปอยู่ในตลาดการซื้อขายอย่างเสรี เรื่องนี้ได้ทำให้เกษตรกรจำนวนมากสูญเสียที่ดินมาแล้ว ฉะนั้นเมื่อระบบแบบนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในที่ดินเราก็ต้องมาคิดกันใหม่ ว่าเราจะสร้างความมั่นคงให้ที่ดินของเราได้อย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่อยากจะชวนให้คิด” นางศยามล กล่าว

นางศยามล กล่าวต่อว่า เกษตรกรไทยในอนาคตมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนยางพารา หรือแม้แต่ชาวสวนยางพารา ที่กำลังจะเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมัน ก็มีโอกาสสูญพันธุ์ เช่นกัน ด้วยระบบที่เราเอากลไกตลาดไปขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศ ที่ขายยางพารา ให้กับตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันยางพาราจะให้ราคาสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตราคายางพาราจะไม่ราคาถูกลง เพราะว่าตอนนี้จีน และเวียดนาม ต่างขยายพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวนมาก ฉะนั้นคาดว่าประมาณ 5-6 ปี ประเทศเหล่านี้จะสามารถกรีดน้ำยางขายได้ เมื่อปริมาณยางมีมากในจำนวนตลาดยางทั้งโลกมีมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ซื้อ ยางก็จะราคาตก ทั้งหมดนี้มีการผันผวนของราคายางตลอด จึงไม่ได้หมายความว่า การปลูกยางพาราจะมีความมั่นคง เพราะว่าเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาเองได้

“เป็นอันหนึ่งที่เราต้องกลับไปคิดว่า เราจะอยู่ได้อย่างไรกับที่ดินที่เรามีอยู่ แล้วเราจะทำการเกษตรแบบไหนที่เราจะมั่นคงในอนาคต และความผันผวนของเรื่องนี้จะมีสูง และเราก็หนีไม่พ้น มันหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเราทำการค้าเสรีกับหลายประเทศ เช่น จีน เวียดนาม ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฉะนั้นมีหลายเรื่องที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจเมื่อเจรจากับประเทศอื่นๆ ว่าจะเข้าข้างใคร เช่น รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นจะรักษาสิทธิของเกษตรกรของเค้า ไม่เหมือนประเทศไทยที่ไม่ค่อยรักษาสิทธิของเกษตรกร ไม่ค่อยปกป้องสิทธิของเกษตรกร ก็มักจะทุ่มทุนในญี่ปุ่นได้ประโยชน์มากกว่าในแง่ของการต่อรองเรื่องราคาพืชผล และสิ้นค้าเกษตร อันนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เราต้องคิด” นางศยามล กล่าว


ทางรอด จัดระบบที่ดินให้ยั่งยืน

นางศยามล กล่าวว่า ตนคิดว่าการจัดการที่ดินไม่ได้พูดถึงแค่ตัวที่ดิน แต่ยังรวมไปถึงระบบการผลิตเกษตรกรต้องคิด ซึ่งในบริบทของเกษตรกรทางภาคใต้ มีภูมิปัญญาในการจัดการที่ดินอยู่แล้ว แต่จะให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างไร เพราะเกษตรกรบางคนอาจกำลังประสบปัญหาหนี้สิน ถ้าปล่อยให้เขาต่อสู้โดยลำพัง ต่อให้เขาเปลี่ยนจากระบบการผลิตแบบสวนยางมาเป็นระบบการปลุกแบบผสมผสานสวนสมรวม ก็อยู่ไปไม่ได้เพราะเขาเป็นหนี้สิน เพราะฉะนั้นเวลาคิดเรื่องที่ดินเราต้องคิดเรื่องทุนด้วย กล่าวคือ ทำอย่างไรเพื่อให้มีเงินทุนของกลุ่มประชาชนชาวเกษตรกรเอง ที่จะนำไปช่วยเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินในระดับบุคคล เพราะการมองอย่างเดียวว่าทุกคนต้องเปลี่ยนระบบการผลิต มันไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

“เกษตรกรต้องมีอาหารที่มั่นคงด้วย ไม่ใช่ว่าทุกอย่างซื้อหมด ดังนั้น การจะให้คนเปลี่ยนจากระบบการผลิตยางพาราตามแนวทางที่รัฐส่งเสริมซึ่งเป็นสวนพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นลักษณะสวนผสมผสานในขณะที่ยังต้องการปลูกยางพาราเพื่อให้มีรายได้ส่งลูกเรียน และเลี้ยงชีพด้านอื่นๆ ก็จำเป็นต้องแก้ปัญหาหนี้สินก่อน ซึ่งคิดว่าทางออกที่ดีที่สุด คือ การมีทุนของเราเองดีกว่าไปกู้ยืมเงินจากธนาคาร ฉะนั้นการเกิดขึ้นของกลุ่มออมทรัพย์ภาคใต้ในหลายพื้นที่เป็นสิ่งที่ดี” นางศยามล กล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ของกลุ่มตนเอง มีทุนของกลุ่ม มีสวัสดิการของกลุ่ม ก็จะทำให้กลุ่มเกษตรกรมั่นคง ยั่งยืนได้ในอนาคต ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับการควบคุมไม่ให้มีการซื้อขายที่ดินมือเปล่า เพราะที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่ก็มีการซื้อขายที่ดิน

“ต่อไปเกษตรกรไม่เพียงต้องสู้กับระบบการผลิต ยังมีเรื่องการควบคุมการใช้น้ำ ที่กำลังจะเกิด ดังนั้น การที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจของโลก เหมือนการผลิตยางพาราพึ่งพากับระบบตลาดโลกอย่างเดียวเช่นทุกวันนี้ จะไปไม่รอดแน่นอน เพราะเกษตรกรมีโอกาสจะขายที่ดินแบบมือเปล่าเมื่อเกิดภาวะยางราคายางพาราตกต่ำ และลูกหลานจะไม่มีโอกาสได้ที่ดินทำกิน แต่ถ้าหากจัดการที่ดิน และระบบการผลิตได้สำเร็จ จะเป็นประโยชน์กับลูกหลาน แม้ว่าจะใช้เวลาเป็นหลายสิบปีก็ตาม” นางศยามล กล่าวทิ้งท้าย

ถึงวันนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าจะโทษใครดีที่เป็นต้นเหตุของปัญหาบุกรุกป่า เพราะด้านหนึ่งรัฐก็เป็นคนส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจยางพาราเสียเอง ส่วนอีกด้านหนึ่ง การจัดการโดยรัฐก็ทำให้ชาวบ้านขยับตัวไม่ได้ เมื่อจู่ๆ วันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐเดินเข้ามาบอกชาวบ้านว่า ทำกินในเขตอุทยานไม่ได้อีกแล้ว เพราะผิดกฎหมายทั้งๆ ที่พวกเขาอาศัยอยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยาน และปลูกผลอาสินต่างๆ อันรวมไปถึงยางพาราที่หน่วยงานของรัฐ (สกย.) เป็นผู้อนุมัติเอง

แต่ปัญหาที่ยุ่งยากมากกว่านั้นคือ เมื่อการจัดสรรที่ดินทำกินเดินหน้าไปอย่างไม่มีข้อสรุปเรื่องการจำกัดการถือครองที่ชัดเจน วันนี้ประชาชนอีกจำนวนมาก ก็ยังต้องก้มหน้าก้มตาทำงานในที่ดินบรรพบุรุษเสมือนทาสในเรือนเบี้ย

โดย : ประชาไท วันที่ 12/02/2008


ขอคำแนะนำด้วยค่ะ/ครับ

พิ้นหลัง