วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

ผลกระทบที่สำคัญประการหนึ่งของโลกาภิวัตน์ต่อระบบเศรษฐกิจ คือ การเพิ่มการแข่งขันมากขึ้นและรุนแรงขึ้น ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ โลกาภิวัตน์ยังทำให้ปัจจัยต่างๆ ที่เดิมไม่ถือว่าเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ เข้ามามีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เช่น ความคิดเรื่องการบริหารจัดการที่ดี หรือธรรมาภิบาล หรือ GOOD GOVERNANCE ในภาษาอังกฤษ ความคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมของภาคธุรกิจ หรือ CORPORATE ACCOUNTABILITY รวมตลอดถึงการให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตสินค้า และการดูแลสิทธิของคนงานเป็นต้น


การค้าระหว่างประเทศมีความเป็นสถาบันมากขึ้น มีองค์กรระดับโลกที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น เช่น องค์การการค้าโลก หรือ WTO ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น หากไม่ทำตามเงื่อนไข ข้อตกลงของการค้าระหว่างประเทศเหล่านี้ การส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศก็จะเกิดปัญหาขึ้น เช่น ตัวอย่างสินค้าของประเทศจีนที่ส่งไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้

โรงงานอุตสาหกรรมไทยต้องปิดกิจการลง เพราะประเทศคู่ค้าไม่ยอมสั่งสินค้า เนื่องจากโรงงานเหล่านี้ ดูแลคนงานไม่ได้มาตรฐานตามหลักการสิทธิมนุษยชน หรือใช้สารเคมีที่อันตรายต่อคน หรือต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าของตน



ใครเคยจะคิดบ้างว่า รสนิยมการบริโภคของคนในประเทศหนึ่ง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตสินค้า ของคนอีกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเผด็จการ อย่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้บริโภคไม่ต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างแรงกดดันอย่างสหภาพแรงงาน เพียงแต่เลิกบริโภคสินค้านั้น ประเทศผู้ผลิตก็เกิดปัญหาทันที

ไม่มีการลงโทษใดที่รุนแรงไปกว่าการลงโทษของผู้บริโภคที่ไม่ซื้อสินค้านั้น ซึ่งเป็นไปตามตรรกะของระบบทุนนิยม ที่ว่าอยู่ด้วยตลาด ก็ตายด้วยตลาด เกิดปัจจัยทางเศรษฐกิจแบบใหม่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์เรียกว่า "ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระดับโลก" หรือ GLOBAL CONSUMER CONFIDENCE ตลาดในโลกยุคโลกาภิวัตน์คือตลาดโลก





การปฏิรูปเชิงสถาบัน

การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สำคัญในโลกยุคโลกาภิวัตน์ คือ การแข่งขันในรูปของการร่วมมือ และการสร้างการยอมรับภายใต้ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม

มาตรฐานที่ใช้ในการสร้างการยอมรับในประชาคมโลกในโลกยุคโลกาภิวัตน์ คือความเป็นประชาธิปไตย ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะฉะนั้น การปฏิรูปเชิงสถาบันของระบบเศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ที่เป็นหัวข้อของการสัมมนาพูดคุยในวันนี้ ก็หนีไม่พ้นที่ต้องพูดถึง การพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจไทยจะได้รับความเชื่อถือหรือไม่ นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนหรือไม่ ใครอยากค้าขายกับเราหรือไม่ สิ่งแรกที่เขาอยากรู้ คือเรามีการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่



ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีฐานะไม่ต่างไปจากภาษาที่คนในประชาคมโลกใช้สื่อสารกัน ถ้าเราไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เราก็พูดกับสังคมโลกไม่รู้เรื่อง เขาก็ไม่อยากพูดคุยกับเรา ไม่อยากคบหาสมาคม รวมตลอดถึงติดต่อการค้ากับเรา

แม้ว่าทฤษฎีโลกาภิวัตน์ส่วนใหญ่จะพูดถึงการล่มสลายของรัฐ การลดบทบาทของรัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐยังสำคัญและยังจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
และที่สำคัญที่สุด รัฐในระบบทุนนิยมจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจเอกชนให้มั่นใจว่า การลงทุนของเขาจะปลอดภัย แม้จะมีความเสี่ยงก็ตาม ความเสี่ยงถือเป็นพลังที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ไม่ใช่เสี่ยงอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นความเสี่ยงภายใต้ระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกาชุดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน


และนี่คือ เหตุผลสำคัญที่การบริหารจัดการที่ดีหรือธรรมาภิบาลได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของการปฏิรูปเชิงสถาบัน เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในโลกยุคโลกาภิวัตน




ขอคำแนะนำด้วยค่ะ/ครับ

พิ้นหลัง